(เพิ่มเติม) CKP ตั้งเป้าระยะยาวมีกำลังการผลิต 4,280 MW จาก 2,320 MW ในปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 9, 2015 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์(CKP)คาดว่า ในช่วง 5-10 ปีจากนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 27% จากช่วงปี 58-59 จะมีกำลังการผลิต 755 เมกะวัตต์ โดยปีนี้จะไม่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามา แต่มีโอกาสเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม โดยเน้นที่พลังงานทดแทน จากนั้นในปี 60 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 875 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น เฟส2 (BIC2) ที่มีกำลังผลิต 120 เมกะวัตต์

และในปี 61-62 กำลังการผลิตรวมจะเพิ่มเป็น 2,320 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีขนาด 1,285 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าน้ำบากขนาด 160 เมกะวัตต์ โดยทั้งสองโรงอยู่ในสปป.ลาว

หลังจากปี 62 บริษัทก็ตั้งเป้ากำลังผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 4,280 เมกะวัตต์ โดยมองโอกาสการเข้าดำเนินโครงการพลังงานน้ำใน สปป.ลาวและในพม่าเพิ่มเติม กำลังผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรขั่นอีก 960 เมกะวัตต์

"ในปี 61 เราจะมีกำลังผลิต 2,320 เมกะวัตต์ ถือว่าดีมากๆ ในช่วง 5 ปี จากปัจจุบันมีกำลังผลิต 755 เมกะวัตต์หรือเติบโต 3 เท่าตัว"นางสาวสุภามาส กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทศึกษาการเข้าซื้อกิจการไฟฟ้าเพิ่ม ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าหากเป็นกิจการที่ยังไม่เริ่มเปิดดำเนินการจะต้องมีอัตราผลตอบแทน(IRR) 10-15% แต่หากกิจการนั้นเปิดดำเนินการแล้วและมีความเสี่ยงลดลงก็จะตั้งเป้า IRR 8-10% ขณะเดียวกันเตรียมพื้นเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 100 เมกะวัตต์ และเตรียมพื้นที่ 8 แห่งเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) ทั้งนี้ ขึ้นกับแผนพัฒนกำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือน เม.ย.หรือต้นเดือน พ.ค.นี้

นางสาวสุภามาส กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงปี 58-59 จะไม่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามา แต่มั่นใจว่าผลประกอบการจะดีขึ้นจากปีก่อน โดยคาดว่ารายได้จะเติบโตกว่า 5% จากปีก่อนที่ทำรายได้ 7 พันล้านบาท รับผลดีจากการปรับปรุงการจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น เฟส 1 (BIC1) ทำให้ปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จาก BIC1 เพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีขนาด 120 เมกะวัตต์ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ทำรายได้ปีละ 3,000 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้น 14% และอัตรากำไรสุทธิ 7-8%

รวมทั้งได้รับผลดีจากการเจรจารีไฟแนนซ์หนี้โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทกับธนาคารเจ้าหนี้ 3 ราย คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต และธนาคารทหารไทย โดยขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 5 ปี จากกรอบเวลา 8-10 ปี และขอเบิกเงินสดที่สำรองกับธนาคารเจ้าหนี้ไว้จำนวน 2 พันล้านบาทออกมาใช้ ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 สามารถจะจ่ายปันผลให้กับ CKP

*เล็งซื้อหุ้นไซยะบุรีเพิ่มจาก BECL

นางสุภามาส กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะซื้อหุ้น บริษัท ไซยะบุรี เพาเวอร์ จำกัด(XPCL) จากบมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ที่ขณะนี้ถืออยู่ในสัดส่วน 7.50% หลังจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น CKP วันนี้มีมตินเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้เข้าซื้อหุ้น XPCL จาก บมจ.ช.การช่าง (CK) ในสัดส่วน 30% หรือ 805,830,000 หุ้น มูลค่าราว 4,344 ล้านบาท รวมทั้งการเพิ่มทุนใน XPCL ตามสัดส่วนการถือหุ้นจนกว่าโครงการจะก่อสร้างเสร็จ เป็นจำนวนราว 5,512 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 9,856 ล้านบาท และรับภาระผูกพันเดิมที่ CK มีกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินของ XPCL

ทั้งนี้ การที่บริษัทเข้าซื้อหุ้น XPCL ในช่วงพ้นระยะการก่อสร้างโครงการที่มีความเสี่ยงสูงมาแล้ว ทำให้ได้ราคาที่สมเหตุสมผลอยู่ในช่วงที่ ดังนั้น คาดว่าบริษัทจะได้รับอัตราผลตอบแทนในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหลืออยู่จนกระทั่งโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนการลงทุนไซยะบุรีอยู่ที่ ประมาณ 10-12% ต่อปี

"มีโอกาสที่จะซื้อหุ้น XPCL ที่ BECL ถืออยู่ ทั้งนี้ขึ้นกับ BECL แต่ก็มีความเป็นไปได้ เข้าซื้อในเวลาที่เหมาะสม" กรรมการผู้จัดการ CKP กล่าว

อนึ่ง โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD)ในปี 62 โดย ณ สิ้นเดือน ม.ค.58 การก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 41.87% ของมูลค่างานทั้งหมด CKP คาดว่าจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรปีละประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งโครงสร้างผู้ถิอหุ้น XPCL เมื่อ 16 มี.ค.58 ได้แก่ CK ถือหุ้น 30% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด(ในกลุ่มปตท.)ถือ 25% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 20% บมจ.ผลิตไฟฟ้า(EGCO) ถือ 12.5% BECL ถือ 7.5% และ บริษัท พีที จำกัดผู้เดียว(บริษัทในลาว) ถือ 5%

นางสุภามาส กล่าวว่า บริษัทจะระดมทุนจากการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม(RO)คาดว่าจะได้รับเงิน 5,610 ล้านบาท และจากการใช้สิทธิแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท(วอร์แรนต์)ที่คาดว่าจะได้รับเงิน 11,220 ล้านบาท หากผู้ถือหุ้นไม่ใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิฯ บริษัทก็ยังระดมทุนจากเงินกู้ ซึ่งปัจจุบันยังมีความสามารถกู้ได้อีกมาก โดยปัจจุบันมีอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน(D/E) 0.9 เท่า และหลังจากเพิ่มทุนจะเหลือ 0.7 เท่า

อนึ่ง บริษัทจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,870 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในอัตรา 1 หุ้นสามัญเดิมต่อ 0.34 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ส่วนวอร์แรนต์นั้นจัดสรรในสัดส่วน 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนได้รับวอร์แรนต์ 1 หน่วย โดยมีอัตราการใช้สิทธิ 1:1 ราคาใช้สิทธิ 6 บาทต่อหุ้น ซึ่งวอร์แรนต์มีอายุ 5 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ