ทั้งนี้ หากแยกจากพื้นที่การลงทุนจะเป็นการลงทุนในประเทศ 58% เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 21% ตะวันออกกลางและแอฟริกา 13% และอื่นๆ 8%
แผนลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์พลาสติกเฉพาะทาง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจก๊าซ ท่อส่งก๊าซเส้นที่ 4 และส่วนต่อขยาย การขยายสถานีบริการในอาเซียน ธุรกิจถ่านหิน สถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นต้น
นายณัฐชาต จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ PTT กล่าวว่า ตามแผนการลงทุนของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ในช่วง 5 ปีจะมีการขยายกำลังการผลิตแบบคอขวดของโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 3 และ 5 ใช้เงินลงทุนราว 5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) เพิ่มขึ้นราว 1-3 แสนตัน/ปี เพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้
ขณะที่การสร้างโรงแยกก๊าซฯแห่งที่ 7 บริษัทมองว่าเป็นการลงทุนสูง และใช้เวลาคืนทุนนานถึง 10-20 ปี ขณะที่ยังไม่มีหลักประกันถึงปริมาณก๊าซฯในประเทศ จึงยังไม่มีแผนลงทุนในขณะนี้
ส่วนแผนแม่บทระบบก๊าซธรรมชาติที่เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)จะมีวงเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯบนบกเส้นที่ 5 การสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ภาคใต้ของไทย และเมียนมาร์ รวมถึงการสร้างคลัง LNG เฟสที่ 3 ด้วย เป็นต้น
ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTT กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในช่วงไตรมาส 2/58 โดยคาดว่าธุรกิจพาราไซลีน(PX) ของบมจ.ไทยออยล์(TOP) และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC)ที่เคยมีผลประกอบไม่ดีนั้น มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นหลังจากเกิดเหตุระเบิดในโรงงานพาราไซลีนขนาดใหญ่ในจีนเมื่อเร็วๆนี้ ทำให้คาดว่าต้องใช้เวลานาน 1-2 ปี ในการแก้ปัญหา เชื่อว่าจะทำให้ปริมาณการผลิตและความต้องการใช้สมดุลกันมากขี้น
“โรงงานในจีนใหญ่กว่าความเป็นจริง คิดว่าสถานการณ์นี้ยังอีกนาน ทำให้ over supply ของ PX หายไป ปัญหาของ PTTGC และ TOP คือมาร์จิ้น PX ไม่ดีมาเป็นเวลาปีกว่าๆ พอมีเหตุการณ์ระเบิดตรงนี้ ก็น่าจะเป็นไปในทางบวก ทำให้ซัพพลาย ดีมานต์ของ PX ดีขึ้น ราคา PX ก็กระโดดขึ้นมา"นายไพรินทร์ กล่าว