อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทซึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่ารัฐบาลมีการติดตามแผนการปรับโครงสร้างของบริษัทอย่างใกล้ชิดและจะให้การสนับสนุนที่เข้มแข็งและทันการณ์โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่บริษัทเผชิญกับปัญหาด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการมีภาระหนี้ในระดับสูง ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ต้นทุนในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น และความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ และความผันผวนของราคาน้ำมัน
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงของอุตสาหกรรมการบินและอัตรากำไรของบริษัทที่ปรับลง อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการประกอบการของบริษัทยังอ่อนแออย่างต่อเนื่องหรือรัฐบาลปรับลดการช่วยเหลือ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น “Stable" หรือ “คงที่" ได้ หากบริษัทสามารถปรับปรุงอัตราการทำกำไรจากการดำเนินงานและความสามารถในการชำระหนี้ได้
บริษัทการบินไทยเป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซียซึ่งให้บริการการบินเต็มรูปแบบและให้บริการสายการบินคุณภาพระดับกลางผ่านบริษัทย่อยภายใต้ชื่อ “ไทยสมายล์" นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นในสัดส่วน 39.2% ใน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำรายสำคัญในประเทศไทยด้วย โดย ณ เดือนมีนาคม 2558 บริษัทให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ณ สนามบินปลายทาง 66 แห่งทั่วโลก ด้วยเที่ยวบินจำนวน 637 เที่ยวต่อสัปดาห์ และให้บริการเส้นทางการบินในประเทศ ณ สนามบินปลายทาง 10 แห่ง ด้วยเที่ยวบินจำนวน 371 เที่ยวต่อสัปดาห์
บริษัทมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 51% และธนาคารออมสินยังถือหุ้นในบริษัทอีก 2.1% ด้วย ในขณะที่หุ้นของบริษัทในสัดส่วน 15.1% ที่ถือโดยกองทุนวายุภักษ์นั้นจัดเป็นการถือหุ้นโดยผู้ลงทุนภาคเอกชนแม้กองทุนวายุภักษ์จะได้รับการจัดตั้งโดยกระทรวงการคลังเพื่อลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม
ในปี 2557 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าประเทศไทยลดลง 7% เป็น 24.78 ล้านคนเนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่ออัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารของบริษัท โดยอัตราส่วนดังกล่าวปรับลดลงสู่ระดับ 69% ในปี 2547 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 74.1% ในปี 2556 อันเป็นผลจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของบริษัทที่ลดลงอย่างมากถึง 17.4% และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากสายการบินต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม ในอดีตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์ที่ไม่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังมีการบังคับใช้กฎอัยการศึกอยู่ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าประเทศไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ก็เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น 7% โดยในเดือนมกราคม 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 14% สู่ระดับ 2.65 ล้านคน ในไตรมาสแรกของปี 2558 อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 75.7% เมื่อเทียบกับระดับ 71.1% ของช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องโดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงจากระดับ 19% ในปี 2552 สู่ระดับ 9.6% ในปี 2556 และอยู่ที่ระดับ 3.3% ในปี 2557 สาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในประเทศ เช่น อุทกภัยครั้งใหญ่ และความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ บริษัทยังมีต้นทุนในการดำเนินงานในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับสายการบินต้นทุนต่ำและที่ผ่านมาไม่สามารถปรับลดได้มากนัก ทั้งนี้ ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่สูงและการแข่งขันที่รุนแรงยังส่งผลกระต่อการทำกำไรของบริษัท อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทควรจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก
สภาพคล่องของบริษัทอ่อนตัวลง โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 2.9 เท่าในปี 2556 เป็น 0.7 เท่าในปี 2557 ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ปรับลดลงจากระดับ 10.7% ในปี 2556 สู่ระดับ 2.2% ในปี 2557 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 บริษัทมีเงินสดอยู่ที่ระดับ 23,347 ล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายจำนวน 6,600 ล้านบาท ส่วนในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทจะต้องชำระคืนเงินกู้จำนวน 22,146 ล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะบริหารให้มีแหล่งเงินเพื่อสำรองต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่าง ๆ นอกจากนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐยังมีส่วนเพิ่มคุณภาพเครดิตของบริษัท
ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 และคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 66% ในปี 2553 สู่ระดับที่สูงกว่า 70% ในช่วงระหว่างปี 2554-2556 และเพิ่มเป็น 84.4% ในปี 2557 เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปในการจัดหาเครื่องบินและผลการดำเนินงานขาดทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในระหว่างปี 2554-2557 บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 110,000 ล้านบาท โดยระหว่างปี 2554-2557 บริษัทรับมอบเครื่องบินจำนวน 47 ลำ โดย 18 ลำเป็นการเช่าทางการเงิน ส่วนที่เหลือเป็นการเช่าดำเนินงาน ในช่วงปี 2558-2561 บริษัทมีแผนรับมอบเครื่องบินจำนวน 22 ลำ ในช่วง 4 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนลงทุนจำนวน 80,000 ล้านบาท โดยบริษัทมีความจำเป็นต้องลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของฝูงบิน ทั้งนี้ การใช้งานเครื่องบินใหม่จะเกิดประโยชน์หลายประการ เช่น ปริมาณการใช้น้ำมันและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่ลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีหนี้สินที่สูงเกินมาตรฐานสำหรับระดับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ซึ่งทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะมีแผนลดภาระหนี้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
หลังจากการทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ได้มีการตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น โดยรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนคือการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน 7 แห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทการบินไทยด้วย ซึ่งรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และให้เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทเพื่อดูแลแผนการปฏิรูปธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทจัดทำแผนการปฏิรูปธุรกิจแล้วเสร็จและได้รับอนุมัติจากกรรมการบริษัทและ คนร. แล้วในเดือนมกราคม 2558 โดยแผนดังกล่าวจะช่วยปรับโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทให้ดีขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการทำกำไร โดยแผนจะรวมถึงโครงการลดต้นทุน โครงการเกษียณก่อนกำหนด การยกเลิกเส้นทางการบินที่ไม่มีกำไร และการปลดระวางเครื่องบินที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทริสเรทติ้งจะติดตามความคืบหน้าและผลสำเร็จของแผน ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างมากในทุก ๆ ด้าน รวมถึงความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีพิเศษ อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากการปรับโครงสร้างของบริษัทไม่เป็นไปตามที่คาดไว้หรือใช้เวลาในการดำเนินงานมากกว่าที่คาดไว้