นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงแผนการลงทุนที่ระมัดระวังของบริษัท และสถานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแรงขึ้นด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว และคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับ 30%-40% เมื่อพิจารณาถึงแผนการลงทุนของบริษัทแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจัยเชิงลบต่ออันดับเดรดิตของบริษัท อาจเกิดขึ้นหากบริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการกู้เงินเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่
บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยบริษัทก่อตั้งและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2543 เพื่อซื้อโรงไฟฟ้าราชบุรีจาก กฟผ. โดย กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 45% ณ เดือนมีนาคม 2558 บริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ โดยมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทรวม 6,578 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตรวมจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 5,613 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลืออีก 965 เมกะวัตต์จะมาจากโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง บริษัทถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยกำลังการผลิตของบริษัทขนาด 5,014 เมกะวัตต์ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีสัดส่วนกำลังการผลิตประมาณ 14% ของกำลังการผลิตติดตั้งของทั้งประเทศ
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง การมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าต่างๆ นั้นเป็นผลจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นอกจากนี้ประสบการณ์ของบริษัทในด้านการบริหารโครงการและการดำเนินงานโรงไฟฟ้ายังมีส่วนช่วยให้โครงการลงทุนต่าง ๆ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงการและการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย และทำให้แต่ละโครงการสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ตามแผน ณ เดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. คิดเป็นกำลังการผลิตประมาณ 4,964 เมกะวัตต์หรือประมาณ 88.4% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วของบริษัท อีก 29 เมกะวัตต์มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ส่วนที่เหลืออีก 620 เมกะวัตต์มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เมื่อจำแนกประเภทของโรงไฟฟ้าตามเชื้อเพลิงแล้ว ประมาณ 94% ของกำลังผลิตไฟฟ้าของบริษัทใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ในขณะที่ 4% เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และอีก 2% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
บริษัทมีฐานะการเงินเป็นที่น่าพอใจ โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นจาก 11,252 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 12,823 ล้านบาทในปี 2557 เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (ได้รับอันดับเครดิตระดับ "AAA" จากทริสเรทติ้ง) รวมถึงจากการควบรวม บริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด (TECO) และการได้รับส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตามคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA มากกว่า 13,000 ล้านบาทในปี 2558 ซึ่งเป็นผลจากการเริ่มดำเนินงานของโรงไฟฟ้าหงสาในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 โดยภายในปี 2559 บริษัทจะมีกำลังการผลิตที่ดำเนินงานแล้วเพิ่มขึ้น 751 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าหงสา ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนดีกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนดีขึ้นจาก 27.5% ณ สิ้นปี 2556 เหลือ 26.7% ณ สิ้นปี 2557 นอกจากนี้บริษัทยังมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 14,266 ล้านบาท เทียบกับเงินกู้รวม 22,298 ล้านบาท และมีภาระเงินกู้ที่ต้องชำระคืนในปี 2558 เพียง 721 ล้านบาท และในปี 2559 จำนวน 1,200 ล้านบาท บริษัทมีภาระผูกผันสำหรับการลงทุนในช่วงปี 2558-2560 มูลค่า 13,800 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าเซเปียน เซน้ำน้อย ในประเทศลาว อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 9,700 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 ดังนั้นบริษัทอาจจะต้องใช้เงินเพิ่มอีกประมาณ 20,000 ล้านบาทสำหรับการลงทุนใหม่ ๆ รวมถึงการซื้อกิจการในช่วงปี 2558-2560 ซึ่ง บริษัทอาจต้องกู้เงินเพิ่มสำหรับการลงทุนใหม่ ๆ ดังกล่าวด้วย โดยที่คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะไม่เกิน 40% ในช่วงปี 2558-2560