นายภาวัน สยามชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ SOLAR กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์เป็น 200 เมกะวัตต์/ปี จาก 70 เมกะวัตต์/ปี โดยใช้เงินลงทุนราว 800 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/58 รองรับความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ และการขยายตลาดต่างประเทศ
จากนั้น บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์เพิ่มอีก 200 เมกะวัตต์ ให้เป็น 400 เมกะวัตต์/ปีในช่วงท้ายของแผน 5 ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 2 พันล้านบาท ขณะที่ชะลอแผนการผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตโซลาร์เซลล์ โดยต้องรอให้กำลังการผลิตโซลาร์เซลล์เพิ่มเป็น 400 เมกะวัตต์/ปีก่อน จึงจะลงทุนผลิตแผ่นเวเฟอร์ให้ได้ระดับกำลังการผลิตที่เหมาะสม(economy of scale)
"ปีที่แล้วไม่ค่อยดีเพราะรัฐบาลเปลี่ยน ตอนแรกมีโปรเจครัฐบาลที่เราจะได้พอสมควร พอมีรัฐประหารทุกอย่างถูกเลื่อนและเปลี่ยนรูปแบบ 6-9 เดือนหายไปหมด เราแก้ปัญหาด้วยการส่งออกแต่ก็เพิ่งเริ่ม...เราพูดถึงตลาดส่งออก ตลาดในประเทศ การส่งสินค้าไปเพื่อนบ้างก็คงมีส่วนด้วยที่จะทำให้ income ขยายตัว เราก็จะโตตามตลาด ตอนนี้ตลาดโลกโตปีละ 20-30%" นายภาวัน กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อนึ่ง SOLAR เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ทุกรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ สามารถทำกำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาได้ 33.94 ล้านบาท และมีรายได้รวม 947.42 ล้านบาท
นายภาวัน กล่าวว่า แผนงานปีนี้ยังคงเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่ก็คาดว่าจะส่งออกมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ถึงปีหน้า หลังจากการขยายกำลังการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แล้วเสร็จ โดยตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐ ออสเตรเลีย อังกฤษ ส่วนยุโรป แม้จะเป็นตลาดที่มีความต้องการมาก แต่ด้วยค่าเงินยูโรที่ตกต่ำทำให้กำไรไม่มากนัก
สำหรับตลาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศนั้น มองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้มาก โดยช่วง 2 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการราว 1,000 เมกะวัตต์/ปีรับผลบวกจากโครงการส่งเสริมของภาครัฐด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีเป้าหมายเพิ่มเป็น 6,000 เมกะวัตต์ในปี 79 จาก 3,800 เมกะวัตต์ภายในปี 59 รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของครัวเรือนหรือหน่วยงานต่างๆ ในอนาคตด้วย
"การเติบโตของตลาดโซลาร์ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 30% ทั่วโลกและในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาก็มีขึ้นๆลงๆบ้าง แต่ก็ยังขึ้นในอัตราที่สูงอยู่"นายภาวัน กล่าว
นายภาวัน คาดว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์)จะกลายเป็นพลังงานหลักของโลกในอนาคต เนื่องจากเชื้อเพลิงอื่น โดยเฉพาะจากฟอสซิลเริ่มลดน้อยลง เช่น ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน คาดว่าจะเหลือใช้เพียง 50-80 ปี, ถ่านหินคงเหลือใช้ 100 ปี ขณะที่การใช้นิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าก็ยังมีคงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ ส่วนพลังงานทดแทนประเภทอื่นมีความเสถียรไม่มากนัก
สำหรับแผนการลงทุน 5 ปีนั้น บริษัทวางเป้าหมายจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจะเข้าร่วมกับกลุ่มสหกรณ์หรือส่วนราชาการทำโซซาร์ฟาร์มที่ทางการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร(โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ) ซึ่งวางเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 1.2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 8 ปี
นายภาวัน กล่าวว่า หากบริษัทสามารถเข้าไปลงทุนในส่วนของธุรกิจโซลาร์ฟาร์มจะช่วยสนับสนุนให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีรายได้จากธุรกิจการออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการขายเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์
อนึ่ง โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตเชิงพาณิชย์(COD)ขณะนี้มีจำนวนแล้วกว่า 1,300 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับกลุ่มที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ที่ยังไม่ COD จะมีกำลังการผลิตรวมเป็นกว่า 1,700 เมกะวัตต์ ขณะที่ยังคงมีโซลาร์ฟาร์มค้างท่ออีกกว่า 1,000 เมกะวัตต์ที่ปัจจุบันมีผู้ประสงค์ที่จะดำเนินการแล้วเกือบทั้งหมดนั้น จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปีนี้ทั้งหมด
นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการอีกจำนวน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในเดือน มิ.ย.59