กองทุนดังกล่าวจะเน้นการลงทุนในหน่วยลงทุน ETF ประมาณ 60% โดยกระจายการลงทุนเป็นหน่วยลงทุน ETF ประเภท H-Share 40% จากระดับราคาหุ้นที่ต่ำกว่าและอานิสงส์ของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ QDII ของทางการจีนที่สนับสนุนให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าใน H-Share ได้มากขึ้น ขณะที่มีกระจายการลงทุนในหน่วยลงทุน ETF ประเภท A-Share เพื่อกระจายการลงทุนในหุ้นจีนที่ยังไม่ครอบคลุมใน H-Share อีก 20% รวมทั้งคัดเลือกหุ้น (Stock Selection) ในหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจและมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับกองทุนอีก 40% โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โครงสร้างพื้นฐาน ประกัน และกลุ่มสื่อสาร เป็นต้น
รวมถึงยังมีแผนที่จะเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ แอคทีฟ 6/2 ฟันด์ในช่วงปลายเดือนนี้ เนื่องจากยังมีมุมมองว่าราคาน้ำมันยังไปต่อได้ จากแนวโน้มการผลิตน้ำมัน Shale Oil และแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มลดลงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อุปสงค์น้ำมันเริ่มเพิ่มขึ้นบ้างบางส่วน ซึ่งปัจจุบันกองทุนเปิด ONE-ACTIVE6/2 อยู่ในระหว่างการพิจารณาจากทางสำนักงาน ก.ล.ต.
ทั้งนี้ กองทุนภายใต้การบริหารจัดการประเภท Trigger Fund สามารถบริหารได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อีก 2 กองทุน ในวันที่ 16 เม.ย. 58 ได้แก่ กองทุนเปิด วรรณ เอเชีย อีโคโนมิค โมท 7 ฟันด์ (ONE-MOAT7) โดยกองทุนฯ สามารถคืนผลตอบแทนได้ 7% ภายในเวลา 7 เดือนตามคาด และกองทุนเปิด วรรณ แอคทีฟ6 ฟันด์ (ONE-ACTIVE6) โดยคืนผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนได้ 6% ภายในเวลา 56 วัน โดยกองทุนประเภท Trigger Fund สามารถปิดกองทุนได้ถึง 13 กองทุน โดยเหลือเพียง 3 กองทุนที่ยังอยู่ในช่วงการบริหารจัดการ
กลยุทธ์การบริหารจัดการกองทุนประเภท Trigger Fund นั้น เน้นกลยุทธ์การลงทุนในลักษณะเชิงรุก (Active Management) อย่างแท้จริง โดยปรับพอร์ตของตราสารที่สอดคล้องไปกับสภาวะการลงทุนในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ และจะมีการซื้อขายตราสารที่ลงทุนระหว่างทางเพื่อบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ (Tactical Trading) โดยเน้นเลือกหุ้นและหรือตราสารที่มีโอกาสการเติบโตของราคาในอนาคต ซึ่งการดำเนินกลยุทธ์ฯ นี้ จะเห็นได้ว่าผลการดำเนินงานกองทุนฯ แม้จะเป็นกอง Trigger Fund แต่ก็ยังสามารถสร้างผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อาทิเช่น กองทุนเปิด ONE-MOAT7 และ ONE-ACTIVE6 ที่ให้ผลตอบแทนของกองทุนตั้งแต่จัดตั้งอยู่ที่ 7.30% และ 6.00% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ให้ผลตอบแทนที่ 1.03% และ 3.69% ในช่วงเวลาเดียวกันตามลำดับ
สำหรับภาพรวมการลงทุนในระยะถัดไปยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมองว่าระยะสั้นยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ หลังจากที่ชินโสะ อาเบะไดรับเสียงข้างมากในสภาล่างเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทำให้สามารถผลักดันและสานต่อนโยบายต่างๆ ได้ราบรื่นและเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะการอัดฉีด QE และการลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคล รวมทั้งมาตรการปรับโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจในระยะยาว เป็นต้น ขณะที่อาเซียน มองว่า เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวได้ดีจากแรงหนุนของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการส่งออก ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวได้มากขึ้นจากมาตรการการกระตุ้นของทางการในแต่ละประเทศและการเมืองภายในประเทศที่คลี่คลาย ซึ่งมีโอกาสดึงความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเข้าสู่ตลาดหุ้นอาเซียนได้มากขึ้นในระยะถัดไป
"ตลาดหุ้นที่คาดว่าจะยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่น ได้แก่ ตลาดหุ้นจีนจากมาตรการการสนับสนุนเศรษฐกิจของจีนที่มีอย่างต่อเนื่องทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง การเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้คาดว่าหุ้นกลุ่มภาคธนาคารพาณิชย์และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานปรับตัวได้ดีจากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าตลาดหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศและการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การเข้าลงทุนของรัฐบาลจีน รวมไปถึงการเชื่อมโยงตลาดหุ้นฮ่องกงกับเซินเจิ้นซึ่งจะเริ่มประมาณเดือน พ.ค. 58 หลังจากที่เชื่อมโยงตลาดหุ้นจีนกับฮ่องกงประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนในหุ้นจีนมีมากยิ่งขึ้น"ดร.วิน กล่าว
ในแง่ของมูลค่าหุ้นจีน (Valuation) ทั้งในส่วนของ A-Share และ H-Share ที่ปัจจุบันที่อยู่ระดับ 14.26 เท่าและ 8.26 เท่าตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียที่อยู่ที่ระดับ 14.95 เท่า ทำให้มองว่าด้วยองค์ประกอบของหุ้นจีนในส่วนของมูลค่าหุ้นก็ยังคงไม่แพง แม้จะปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 11.8% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแล้วก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้น H-Share ที่ยังมีราคาถูกค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับหุ้น A-Share