อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ผลประกอบการ มีการปรับตัวดีขึ้น โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.1 จากจำนวน 88.8 ล้านบาทเป็นจำนวน 130.6 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของกลุ่มธนาคารที่ดีขึ้นต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2558 และ 2557 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 90.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.4 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 59.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 เป็นผลจากการขยายสินเชื่อในอัตราที่ลดลงและการไถ่ถอนตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก่อนกำหนดในปี 2557 ซึ่งมีผลทำให้กำไรเพิ่มขึ้นในงวดเดียวกันปี 2557 และรายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น 115.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.1 เนื่องจากกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจำนวน 359.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 151.5 ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกรรมการบริหารเงิน และรายได้จากการดำเนินงานอื่น เพิ่มขึ้นจำนวน 18.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.5 ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้เงินปันผล ในขณะที่กำไรสุทธิจากเงินลงทุนลดลงจำนวน 60.9 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 30.4
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2558 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2557 เพิ่มขึ้นจำนวน 104.3 ล้านบาทหรือร้อยละ 6.2 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 60.1 ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2557 อยู่ที่ ร้อยละ 62.2 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้และการปรับปรุงแผนการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 2.95 หรือลดลงร้อยละ 0.32 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปี 2557 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ เนื่องจากสินเชื่อของธนาคารชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจและต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 190.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 5.0 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557
กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 208.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.8 จากสิ้นปี 2557 ซึ่งมีจำนวน 211.7 พันล้านบาท ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อ เงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91.8 จากร้อยละ 90.1 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 7.1 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 3.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เป็นผลจากความล่าช้าในการชำระหนี้ของลูกค้าภาคธุรกิจบางราย อย่างไรก็ตาม ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแล และการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 94.1 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 6.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2.6 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2558 มีจำนวน 31.5 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 14.5 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 9.7