ทั้งนี้ หากสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ก็จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเอทานอลเพิ่มเป็น 5.5 แสนลิตร/วัน จากปัจจุบันมีอยู่ 3.5 แสนลิตร/วัน หรือ 120 ล้านลิตร/ปี ซึ่งขณะนี้ใช้กำลังการผลิตราว 80% ทั้งนี้ การขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"เราจะไม่ขยายกำลังการผลิตเอง แต่จะพยายาม M&A โรงที่มีไลเซ่นส์แล้วแต่ไม่พร้อมดำเนินการ โดยมองภาคกลางจังหวัดไหนก็ได้"นายสมชาย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายสมชาย เปิดเผยอีกว่า บริษัทตั้งเป้าปี 58 จะมีปริมาณผลิตและขายเอทานอลที่ 105 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนที่มีปริมาณ 97 ล้านลิตร จึงคาดว่ารายได้รวมก็จะเติบโตตามปริมาณขายที่ราว 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ราว 2,500 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิจะสูงกว่าปีก่อนที่มีกำไร 219 ล้านบาท เนื่องจากบริษืทตั้งเป้าอัตรากำไรสุทธิที่ 10% สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 8.7%
"อัตรากำไรที่จะสูงขึ้นมาจากการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะหลังจากที่โรงไฟฟ้าของเราผลิตไฟใช้เองได้จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ราว 70 ล้านบาท/ปีก็จะทำให้กำไรสุทธิสูงขึ้นจากปีก่อน"นายสมชาย กล่าว
สำหรับราคาขายเอทานอลปีนี้อาจปรับลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 25.50 บาท/ลิตร เนื่องจากมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจึงอาจถูกตัดราคาบ้าง แต่เชื่อว่าราคาคงไม่ต่ำไปมากนัก เพราะการกำหนดราคาขายขึ้นอยู่กับการเจรจากับผู้ซื้อ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้ในระดับ 27 บาท/ลิตร
"ถึงแม้มีกระแสรัฐบาลจะทบทวนราคาขายเอทานอล แต่เราก็จะ maintian อัตรากำไรสุทธิให้ได้เป้า 10%...จะพยายามเพราะต้นทุนลดลง ที่จะมาเสริมกำไรคือจากโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้แล้ว ผลกำไรก็จะสูงขึ้น" นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนรวมในปีนี้ไว้ที่ 40-50 ล้านบาทสำหรับปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานผลิตเอทานอลโรงที่ 1 เพราะเก่ามากแล้ว แต่จะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพิ่มเติม โดยขณะนี้มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ 5 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการผลิตใช้เองภายในโรงงาน 3 เมกะวัตต์ ยังเหลืออีก 2 เมกะวัตต์ที่จะสามารถผลิตเพิ่มได้ แต่เนื่องจากขณะนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ยังไม่ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม จึงจะมีการทบทวนใหม่ และรอให้นโยบายของรัฐบาลที่จะการปรับแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนชัดเจนก่อน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 50-60 ล้านบาท/เมกะวัตต์
ส่วนความกังวลว่า บมจ.ลานนารีซอร์สเซส(LANNA)ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TAE สัดส่วน 51% จะขายหุ้นนั้น นายสมชาย เชื่อว่า LANNA ไม่ขายหุ้นออกไปแน่ เพราะขณะนี้ TAE สร้างผลกำไรได้ดี และสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 56 ที่ 1.7 เท่า มาเหลือ 1.1 เท่าในปี 57
ด้านนายอนันต์ เล้าหเรณู กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการด้านการเงิน LANNA กล่าวว่า LANNA ยืนยันไม่ขายหุ้น TAE เพราะยังทำกำไรได้ดี
"ไม่ต้องกังวล เราถือ 51% ถ้าจะขายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราไม่มีนโยบายที่จะขาย เพราะถ้าจะขาย คงขายออกตอน IPO ไปแล้ว..จะขายทำไม เพราะกำไรดี หนี้ก็คืนได้ วงเงินเครดิตไลน์ก็เยอะ ตราบใดที่มีเงินก็เอาไปคืนหนี้"นายอนันต์ กล่าว