ทั้งนี้ พล.อ.ประจิน กล่าวว่า ได้ยืนยันกับบีทีเอสว่ากระทรวงคมนาคมมีแผนก่อสร้างตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 อยู่แล้ว ดังนั้นคงไม่สามารถยกเลิกการดำเนินงานและนำมาให้สัมปทานกับบีทีเอสได้
ส่วนการเดินรถไฟนั้น เป็นแนวทางที่ต้องการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาได้เพื่อประโยชน์ต่อประเทศ โดยจะต้องพิจารณาในเรื่องระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสม การใช้งานหัวรถจักรที่มีในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมาย คือ เกิดการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัย การใช้พลังงานลดลง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยสูงสุด
"กระทรวงไม่สามารถยกเลิกแผนการก่อสร้างแล้วให้สัมปทานเส้นทางให้บีทีเอสไปดำเนินการก่อสร้างและเดินรถได้ บีทีเอสต้องกลับไปทำการบ้านเพิ่มเติม เพื่อนำข้อมูลมาหารือกันครั้งหน้า เช่น แนวคิดในการร่วมลงทุน แนวคิดในการเดินรถสินค้า เงื่อนไขของแหล่งเงินและผลตอบแทนต่างๆ ในขณะที่กระทรวงสนใจเรื่องการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน"รมว.คมนาคม กล่าว
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า บีทีเอสไม่เข้าใจว่ากระทรวงคมนาคมมีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่แล้ว จึงเสนอก่อสร้างและเดินรถมาให้ ซึ่งคงไม่ได้ เพราะจะทำให้การก่อสร้างล่าช้า กว่าจะนำเสนอข้อมูลและตกลงก็ใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี แผนงานรวมจะช้าไปหมด ดังนั้นจะเหลือในส่วนของการเดินรถที่บีทีเอสจะเสนอได้ โดยเข้าร่วมลงทุนโดยใช้รูปแบบ PPP ส่วนการเปลี่ยนระบบรถไฟดีเซลเป็นระบบรถไฟฟ้านั้น ซึ่งตรงกับแนวคิดที่สนข.
อย่างไรก็ตาม ทางรถไฟปัจจุบันเมื่อทำเป็นรถไฟทางคู่แล้ว จะมีความจุในการเดินรถมากขึ้นซึ่งร.ฟ.ท.สามารถใช้รถไฟดีเซลวิ่งได้และมีส่วนที่ให้บีทีเอสเข้ามารับสัมปทานได้ ลักษณะใช้ทางร่วม ซึ่งต้องไปศึกษาว่าจะใช้รถไฟฟ้าวิ่งได้วันละกี่ขบวน