รวมถึงยังรับรู้กำไรจากการเข้าลงทุนในลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วในต่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินมาซินลอค และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ"สตาร์" รวมถึงการเข้าถือหุ้นเพิ่มในบริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด(NED) ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย เมื่อต้นปีนี้ เป็นระดับ 66.66% จากเดิมที่ 33.33% ด้วย
"กำไร Q1 ดูแล้วน่าจะใกล้เคียงกัน เรามีมาซินลอค,โบโค ร็อค,สตาร์ เข้ามา ก็อยากให้เข้ามาเสริมมากกว่านี้แต่ก็มีซ่อมบำรุงหลายแห่งด้วยเช่นกัน"นายสหัส กล่าว
นายสหัส กล่าวอีกว่า โรงไฟฟ้าระยองที่หมดสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แล้วนั้น จะทำให้กำไรที่เคยได้รับจากโรงไฟฟ้าระยองหายไปราว 400 ล้านบาท/ปี ขณะที่กำลังพิจารณาถึงการขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออกไป ส่วนพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้านั้นกำลังพิจารณาถึงการจัดตั้งเป็นสวนอุตสาหกรรม หรือเตรียมพื้นที่รอไว้ในกรณีที่รัฐบาลจะเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่(IPP)รอบใหม่ในอนาคต
สำหรับแผนกลยุทธ์ในปีนี้จะมุ่งบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ให้เดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมองหาโอกาสในการซื้อสินทรัพย์ที่จะทำให้รับรู้รายได้เข้ามาทันที ตลอดจนการขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีพื้นที่ที่ให้ความสนใจ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ เป็นต้น แต่ในส่วนที่มีผู้เสนอขายโครงการผลิตไฟฟ้าหลายแห่งระดับพันเมกะวัตต์ในอินเดียนั้น บริษัทได้เข้าไปศึกษาแล้วพบว่าการเจรจาค่อนข้างยาก รวมถึงผลกำไรไม่สูงมากนัก ทำให้ไม่สนใจในโครงการดังกล่าว แต่ก็ยังคงมองหาโอกาสอื่นๆอยู่ต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุนกับ กฟผ. ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ในเวียดนาม ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในปี 64 นั้น ซึ่งล่าสุดคาดว่า กฟผ.จะเปิดประมูลทั่วไปให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อทำโครงการดังกล่าวด้วย
นายสหัส กล่าวอีกว่า โครงการลงทุนใหม่ที่คาดว่าจะมีความคืบหน้าเร็วๆนี้ เป็นการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินซานบัวนาเวนทูรา ในเมืองเคซอนของฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตราว 500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร โดยบริษัทจะถือหุ้นราว 50% ทั้งนี้ คาดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของฟิลิปปินส์ จะพิจารณาอนุมัติใน 1-2 เดือนนี้ หลังจากนั้นคาดว่าจะสามารถลงทุนก่อสร้างได้ทันที โดยคาดว่าการใช้เงินลงทุนในปีนี้จะไม่มากนักเพราะเป็นช่วงเริ่มต้น ขณะที่การลงทุนสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่จะอยู่ที่ราว 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 1.2-1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจุบัน EGCO มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 23 แห่ง กำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนร่วมทุน 3,746 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย,ลาว,ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา 6 โครงการ กำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนร่วมทุน 1,498 เมกะวัตต์