ทริสฯ คงเครดิตองค์กรและแนวโน้ม EASTW ที่ “A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 22, 2015 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก(EASTW) ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" ซึ่งสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่มีโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบครอบคลุมพื้นที่ในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ตลอดจนลักษณะธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้ยาก และความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมีรายได้ที่สม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากความต้องการเงินลงทุนที่สูงในการหาแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติม ตลอดจนผลกระทบที่คาดเดาได้ยากจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ และความเสี่ยงจากการมีกลุ่มลูกค้าที่ไม่หลากหลาย นอกจากนี้ กฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ไม่ชัดเจนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังเป็นประเด็นกังวลต่อความสามารถของบริษัทในการให้บริการที่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจและสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอของบริษัท โดยทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะขยายธุรกิจโดยการเพิ่มภาระหนี้ด้วยความระมัดระวังและมีการติดตามตรวจสอบอย่างมีวินัย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยดำรงคุณภาพเครดิตของบริษัทเอาไว้

ปัจจัยที่เป็นบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทจะลดทอนลงในระยะ 12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากบริษัทอยู่ในช่วงของการลงทุนที่ส่งผลให้บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนและสภาพคล่องที่อ่อนตัวลง ปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการที่กระแสเงินสดของบริษัทถูกกระทบจากยอดจำหน่ายน้ำดิบที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญและต้นทุนการจัดหาน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ การลงทุนที่ทำให้เกิดภาระหนี้สูงขึ้นอย่างมากจะมีผลกระทบต่อคุณภาพเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกก่อตั้งในปี 2535 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาและดำเนินการดูแลระบบท่อส่งน้ำดิบในพื้นที่ 7 จังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ปัจจุบันบริษัทเน้นให้บริการน้ำดิบในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า และสังคมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการน้ำประปาในเขตพื้นที่บริการอีก 10 เขต โดยมีกำลังการผลิตรวม 308,460 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน ณ เดือนมีนาคม 2558 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทประกอบด้วย การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 40.2% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ถือ 18.7% Norbax Inc., 13 ถือ 6.9% และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถือ 4.6% ในปี 2557 บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำดิบคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% และรายได้จากธุรกิจน้ำประปาคิดเป็น 23% ของรายได้รวม

พื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลมาจากการที่บริษัทเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ นับตั้งแต่การก่อตั้ง บริษัทเช่าและดำเนินการบริหารโครงการท่อส่งน้ำดิบจำนวน 4 โครงข่ายซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง หลังจากนั้น บริษัทได้พัฒนาโครงข่ายการจ่ายน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายในทุกพื้นที่ที่ให้บริการ แม้ว่าการประกอบกิจการไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน แต่การมีโครงข่ายที่ครอบคลุมนั้นต้องใช้เงินลงทุนสูงและต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเข้าสู่ธุรกิจประเภทนี้ โครงข่ายท่อส่งน้ำของบริษัทที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างสมบูรณ์ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสูบและบริหารจัดการน้ำดิบจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อจัดสรรให้แก่ลูกค้าในทุกพื้นที่ที่ให้บริการด้วย ดังนั้น บริษัทจึงไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องของคู่แข่งทางตรงในธุรกิจน้ำดิบในอนาคตอันใกล้

ความเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่งของธุรกิจการให้บริการน้ำดิบคือการจัดหาแหล่งน้ำ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศมีผลต่อปริมาณน้ำฝน โดยฝนที่ตกในช่วงฤดูฝนจะเป็นการสะสมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ตลอดปี ดังนั้น ความต้องการใช้น้ำดิบที่เพิ่มขึ้นจึงผลักดันให้บริษัทต้องหาแหล่งน้ำแห่งใหม่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ให้บริการของบริษัท ต้นทุนการสูบและส่งน้ำของบริษัทจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้นั้นขึ้นอยู่กับการอนุมัติของกรมชลประทานซึ่งให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ บริษัทยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการมีลูกค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่รายเนื่องจากยอดขายน้ำให้แก่ กปภ. และ กนอ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทมีสัดส่วนถึงประมาณ 65%-70% ของยอดขายรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และ กปภ. ยังสามารถต่อรองราคาน้ำดิบกับบริษัทและได้รับการลดราคาค่าน้ำดิบ

โดยทั่วไปแล้ว ปัจจัยที่สนับสนุนความต้องการใช้น้ำดิบมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกรวมทั้งความต้องการที่สูงขึ้นของกลุ่มผู้บริโภคซึ่งมีความผันแปรไปตามสภาพเศรษฐกิจ ปริมาณฝนที่หนาแน่นและการที่ลูกค้าบางรายสามารถหาแหล่งน้ำดิบได้โดยตรงส่งผลลบต่ออุปสงค์ในการใช้น้ำดิบ ในปี 2557 บริษัทมียอดขายน้ำดิบรวม 257 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ยอดซื้อน้ำดิบจากกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 3% แต่ยอดซื้อ

น้ำดิบจากกลุ่มผู้บริโภคกลับลดลง 7.5% เนื่องจาก กปภ. สามารถหาแหล่งน้ำดิบได้โดยตรง หาก กปภ. มีขีดความสามารถในการหาแหล่งน้ำดิบเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลกระทบต่อยอดขายน้ำดิบและจำกัดโอกาสในการเติบโตของบริษัท อย่างไรก็ดี รายได้จากการขายน้ำดิบของบริษัทเพิ่มขึ้น 2.75% เป็น 2,768 ล้านบาทในปี 2557 จากผลของการปรับราคา

น้ำดิบเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.6% เป็น 10.77 บาทต่อ ลบ.ม.ในทางกลับกัน ธุรกิจจำหน่ายน้ำประปาของบริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจน้ำประปาเพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอยู่ที่ 989 ล้านบาท อย่างไรก็ดี แม้ธุรกิจให้บริการน้ำประปาจะมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีโอกาสในการขยายตัวในอนาคตในระดับต่ำเนื่องจาก กปภ. ไม่มีนโยบายเปิดประมูลสัมปทานใหม่หรือให้เอกชนดำเนินการแทน ดังนั้น โอกาสในการขยายธุรกิจน้ำประปาของบริษัทคือการหาสัมปทานกิจการประปาโดยตรงจากเทศบาลหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ

ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทมาจากผลการดำเนินงานที่ดีและการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอน ในปี 2557 บริษัทมีรายได้ 4,242 ล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวรวมรายได้ค่าก่อสร้างภายใต้สัญญาสัมปทานจำนวน 269 ล้านบาทซึ่งได้บันทึกเป็นต้นทุนการผลิตเอาไว้ด้วย หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 5.7% จากปีก่อนหน้า บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ที่ระดับสูงกว่า 54% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งแม้จะมีภาระหนี้ที่สูงขึ้นมากจากการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการสูบส่งน้ำและการจัดหาน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต โดยโครงการหลัก คือ โครงการอ่างเก็บน้ำทับมาและโครงการท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาใหล ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5,450 ล้านบาท แต่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังคงอยู่ในระดับดีที่ 39.02% สภาพคล่องก็ยังคงแข็งแรง อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 31.58% และมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย 10.18 เท่า

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงปี 2558-2560 บริษัทจะสามารถรักษาระดับอัตรากำไรได้ไม่ต่ำกว่า 54% และคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ โดยจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานไม่ต่ำกว่า 1,700 ล้านบาทต่อปีเพื่อให้เพียงพอต่อภาระผูกพันทางการเงินที่มีปีละ 800-1,000 ล้านบาทในปี 2559-2560 และการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอตามนโยบายบริษัท

บริษัทมีโครงการลงทุนรวมประมาณ 2,500 ล้านบาทในปี 2558 และ 1,300 ล้านบาทในปี 2559 โดยเงินลงทุนหลัก ๆ จะใช้ในโครงการอ่างเก็บน้ำทับมาและท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาใหล เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวจะอาศัยการก่อหนี้ ดั้งนั้นจึงคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะสูงกว่า 40% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยฐานะการเงินของบริษัทคาดว่าจะกลับมาแข็งแกร่งหลังจากที่โครงการลงทุนต่าง ๆ แล้วเสร็จสมบูรณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ