"เราใกล้จะลงนามกับพาร์ทเนอร์ของเรา เราอาจทำงานร่วมกันไปก่อนถึงจุดจุดหนึ่ง เราก็จะลงนาม Joint Venture Agreement การลงนามอย่างอื่นยัง แต่ก็มีการพูดคุยกับพาร์ทเนอร์กันแล้ว น่าจะเซ็นได้ภายในไตรมาส 3 หรือ 4 ข้างหน้า เป็นสัญญา JV เพราะเริ่มจะใส่เงินแล้ว การ study ตรงก็มีค่าใช้จ่ายแล้ว เข้าใจว่าน่าจะเป็นในไตรมาส 3"นายปฏิภาณ กล่าว
นายปฏิภาณ กล่าวว่า การหาพันธมิตรที่เป็นเทรดเดอร์ จะสามารถช่วยขายผลิตภัณฑ์ในตลาดสหรัฐ ซึ่งบริษัทไม่มีความเชี่ยวชาญ ขณะที่ตามปกติบริษัทเทอร์เดอร์จากญี่ปุ่นจะถือหุ้นในแต่ละโครงการสัดส่วนไม่มากราว 20-30%
สำหรับความคืบหน้าของโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐนั้น ขณะนี้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้ศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนในโครงการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/59 โดยจะต้องศึกษาทั้งในส่วนของมูลค่าการลงทุนที่ชัดเจน, การทำสัญญาซื้อวัตถุดิบระยะยาวทั้งในส่วนของปริมาณและราคา ตลอดจนการทำการตลาด ซึ่งหากได้ข้อสรุปและผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการก็คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 59 และใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 64
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่ตั้งโครงการใน 3 รัฐ ได้แก่ โอไฮโอ ,เวสต์ เวอจิเนีย และเพนซิลวาเนีย ในแถบมาร์เซลลัส (Marcellus) ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ ซึ่งเป็นแหล่ง shale gas ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ และเป็นภูมิภาคที่มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ในระดับสูง โดยการคัดเลือกจะพิจารณาจากการสนับสนุนของภาครัฐ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความได้เปรียบในด้านการขนส่งผลิตภัณฑ์ และความพอเพียงของแรงงานที่มีความสามารถ เบื้องต้นเห็นว่ารัฐโอไฮโอ มีความเป็นไปได้ในการตั้งโครงการดังกล่าว
โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐจะเป็นการผลิตโอเลฟินส์ขนาด 1 ล้านตัน/ปี ใช้ก๊าซอีเทนจาก shale gas เป็นวัตถุดิบ เพื่อรองรับตลาดในสหรัฐที่ยังมีการนำเข้าในปริมาณที่มาก รวมถึงจะมีการสร้างผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ได้แก่ โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) 7 แสนตัน/ปี และโมโนเอทิลีนไกลคอล(MEG) และเอทิลีนออกไซด์ (EO) รวม 6 แสนตัน/ปี ขณะที่บริษัทจะทำสัญญากับผู้ผลิต shale gas หรือผู้จัดหา shale gas เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิต
สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และเม็ดพลาสติก ยังคงมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 4% ทั่วโลก ขณะที่ปัจจุบันกำลังการผลิตโอเลฟินส์ของโลกอยู่ที่ระดับ 140 ล้านตัน/ปี ซึ่งยังคงมีการใช้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในอินโดนีเซีย มูลค่าลงทุนเบื้องต้นราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้นน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3/58 ซึ่งเดิมเป็นการร่วมทุนเฉพาะเปอร์ตามิน่า แต่หลังจากที่กลุ่มเปอร์ตามิน่าเลือกซาอุดิอารามโก้มาเป็นพันธมิตรสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ทำให้มีแนฟทาเหลือมากพอที่จะรองรับการทำปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ จึงเห็นว่าควรจะร่วมกันดำเนินการทั้งสามฝ่าย ล่าสุดทางเปอร์ตามิน่าจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับซาอุดิอารามโก้ต่อไป
นายปฎิภาณ กล่าวอีกว่า บริษัทได้จัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจสีเขียวที่ครบวงจร (Bio-Hub) ซึ่งจะเป็นการดำเนินธุรกิจจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ที่ใช้วัตถุดิบจากการเกษตรมาผลิต โดยในส่วนของบริษัทเตรียมที่จะนำเสนอโมเดลการลงทุน Bio-Hub โดยใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) ในอนาคต โดยจะเสนอแผนไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังต่อไป
การลงทุน Bio-Hub หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างชัดเจน ทั้งในด้านของพื้นที่ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ก็จะเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะที่แผนการลงทุนที่จะสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ (PLA) แห่งที่ 2 ในไทยนั้นยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการสนับสนุนจากภาครัฐ จากปัจจุบันที่มีโรงงาน PLA แห่งแรกในสหรัฐ จากการที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนในบริษัท NatureWorks
"PLA เราต้องดูสุดท้ายว่าวันนี้เราจะลงทันทีหรือไม่ หรืออาจจะรอตรงนี้ (Bio-Hub) หรือเราจะกะเลยว่าโลเกชั่นตรงนี้สุดท้ายจะกลายเป็น Bio-Hub อยู่ดี ภาครัฐต้องรอให้เอกชนเสนอโมเดลเข้าไปหรือเปล่า วันนี้เรากำลังคุยกับภาครัฐอย่างซีเรียสว่าวันนี้เรามีโมเดลชัดเจนแล้ว"นายปฏิภาณ กล่าว