นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ กรรมการผู้จัดการ ของ DEMCO คาดว่ารายได้และกำไรสุทธิในปีนี้จะทำได้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากงานในมือ(backlog)ที่มีอยู่ปัจจุบันราว 5 พันล้านบาท จะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ 3.4 พันล้านบาท และยังมี โอกาสที่จะได้รับงานใหม่เพิ่มเติมอีก รวมถึงยังมีรายได้จากงานโรงงานเสาโครงสร้างและเสาโทรคมนาคมราว 500 ล้านบาท ขณะที่ยังมีกำไรจะเติบโตขึ้น จากอัตรากำไรสุทธิ(net margin) ที่เพิ่มขึ้นจาก 7% ในปีที่แล้วเพราะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้า ระบบ รวมถึงมีเงินปันผลจากธุรกิจการลงทุนเข้ามาราว 182 ล้านบาท จาก 165 ล้านบาทในปีก่อน
"ปัจจุบันงานรับเหมารวมโรงงานคิดเป็น 2 ใน 3 ของกำไร หรือ 65% และธุรกิจการลงทุนคิดเป็น 1 ใน 3 แต่ในอีก 5 ปีฝ่ายบริหารคิดว่าจะกลับข้างกัน โดยกำไรจากการลงทุนน่าจะเป็น 2 ใน 3 จาก 1 ใน 3 ตอนนี้ เรา target ที่จะกลับข้างกันเพราะจะเห็นว่า net income จากการลงทุนเกิดขึ้นจากการที่เราพิจารณาโครงการตัดสินใจและลงทุน ขณะที่งานรับเหมาจะต้องมีการประมูลงานต่อเนื่อง ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ ตลาด คู่แข่ง ต้นทุน องค์ประกอบ ความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ ถ้าเรากลับข้างได้จะทำให้ความเสี่ยงในธุรกิจลดลง แต่เราก็ไม่พร้อมที่จะเป็นโฮลดิ้งคอมพานี"นายพงษ์ศักดิ์ ให้สัมภาษณ์"อินโฟเควสท์"
ปัจจุบันธุรกิจ DEMCO มี 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มงานรับเหมาด้านวิศวกรรมไฟฟ้า,ระบบไฟฟ้า-เครื่องกล และงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน กลุ่มธุรกิจโรงงาน ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเสาโครงเหล็กที่ใช้ในงานสายส่งและเสาโทรคมนาคม โดยมีโรงงานเสาที่จ.ลพบุรี กำลังการผลิต 1.6 หมื่นตัน/ปี และกลุ่มธุรกิจการลงทุน ที่เน้นการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
DEMCO สามารถทำกำไรและรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 55 โดยมีรายได้ที่ 6 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 392.59 ล้านบาท ขณะที่ในปีที่ผ่านมามีรายได้รวมซึ่งมาจากธุรกิจรับเหมาและธุรกิจโรงงานรวม 4.92 พันล้านบาทและกำไร สุทธิ 362 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากงานภาคเอกชน 75% และงานภาครัฐ 25%
นายพงษ์ศักดิ์ คาดว่ารายได้ในช่วง 5 ปีนี้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-15% มาแตะระดับ 1.1 หมื่นล้านบาท จากตลาดงานรับเหมาที่ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะงานรับเหมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนละพลังงานทางเลือกในปี 55-64 ไทยจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนระดับ 1.4 หมื่นเมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่เข้าระบบแล้วราว 4 พันเมกะวัตต์ ยังคงเหลืออีกในตลาดอีก 1 หมื่นเมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าตลาดราว 5 แสนล้านบาท รวมถึงยังมีงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เพื่อรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ และเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วย
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่ามูลค่างานธุรกิจรับเหมาและงานเสาโครงเหล็กในตลาดปีนี้จะอยู่ระดับ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้รับงานมากกว่า 10% ของตลาด ขณะที่ในปีถัดไปมูลค่างานของธุรกิจดังกล่าวในตลาดจะอยู่ในระดับ 6.6 หมื่นล้านบาท
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า รายได้ที่เติบโตและการรุกเข้าไปลงทุนในธุรกิจการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และการลงทุนระบบสาธารณูปโภคในลาวนั้น จะมีส่วนช่วยผลักดันให้กำไรในช่วง 5 ปีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับมากกว่า 10% ของรายได้จากราว 7% ของรายได้ในปัจจุบัน
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจการลงทุนของบริษัท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ด้วยการเข้าถือหุ้นบางส่วนในโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งพลังงานลม, แสงอาทิตย์ และขยะ มีกำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนร่วมทุนราว 70 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้เป็นกำลังการผลิตที่ผลิตแล้วราว 30 เมกะวัตต์ รวมถึงโซลาร์รูฟ 5 โครงการที่จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนเม.ย.นี้ด้วย
ขณะที่การร่วมลงทุน 21.25% ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 16 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการรวม 2.8 พันล้านบาท อยู่ระหว่างการยื่นเสนอขอทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)แต่ยังต้องรอ กฟผ.พิจารณาก่อนว่าจะมีสายส่งรองรับได้หรือไม่ เชื่อว่าจะลงนามซื้อขายไฟฟ้าได้ต่อไปและจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการแรก 8 เมกะวัตต์ใน จ.ลพบุรี ได้ในครึ่งหลังปีนี้ และโครงการที่สองขนาด 8 เมกะวัตต์ใน จ.มหาสารคามได้ในครึ่งแรกปี 59
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมกับกองทัพเพื่อยื่นข้อเสนอกับหน่วยงานรัฐที่จะเปิดรับการซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร(โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ) โดยวางเป้าหมายไว้ราว 30 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการราว 1.8 พันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการประกาศเชิญชวนจากภาครัฐ ซึ่งหากได้งานจะต้องเริ่มทำในปีนี้ 15 เมกะวัตต์
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภค ประเภทน้ำประปา ที่แขวงหลวงพระบางในลาวนั้น คาดว่าจะมีการลงนามสัญญาสัมปทานกับลาวได้ในเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะเริ่มลงทุนทันทีและคาดว่าจะเริ่มมีรายได้กลับเข้ามาในปี 59 กว่า 20 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาคืนทุน 11 ปี จากเงินลงทุนในโครงการทั้งหมด 1 พันล้านบาท
"น้ำประปาเป็นแค่ step แรกที่เราเข้าไป step ถัดมาคือเรื่องระบบไฟฟ้าใต้ดิน...ระหว่างเราศึกษาน้ำประปา เราก็มองเห็นโอกาสของการลงทุนระบบไฟฟ้าใต้ดิน ที่เขากำลังจะเอาลงดินเพราะเป็นเมืองมรดกโลก เป็นการเพิ่ม demand ให้กับงานของเรา ในอนาคตลาวสจะสร้างเขื่อนพลังน้ำขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่ละแห่งก็ต้องมีสถานีไฟฟ้าและสายส่ง สถานีไฟฟ้าเราทำได้ สายส่งจะเป็นเค้กให้กับโรงงานของเราในการผลิตเสาโครงเหล็ก"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
นอกจากในลาวแล้วบริษัทยังมองตลาดธุรกิจรับเหมาในเมียนมาร์ด้วย โดยในปีที่แล้วได้เข้าไปรับงานสร้างสถานีไฟฟ้าขนาดเล็ก 2 แห่งมูลค่างาน 90 ล้านบาทกำลังจะจ่ายไฟฟ้าใน 1-2 เดือนนี้ รวมถึงยังอยู่ระหว่างการส่งทีมงานสำรวจเพื่อออกแบบสถานีไฟฟ้าและสายส่ง ขนาดงานไม่ใหญ่มากในเมียนมาร์เพิ่มเติมด้วย
*ลงทุน 2 ปี 1.1 พันลบ.
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในช่วง 2 ปี(ปี58-59) ในระดับราว 1.1 พันล้านบาท แม้จะมีโครงการลงทุนในหลายโครงการก็ตาม แต่เงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินกู้โครงการ ทำให้ใช้เงินในส่วนของบริษัทไม่มากนัก โดยช่วง 2 ปีนี้จะใช้เงินลงทุนราวปีละ 550 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ(วอร์แรนต์) รุ่นที่ 5 และ 6 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน รวมถึงยังมีเงินปันผลจากการลงทุนจะเข้ามาช่วง 2 ปีราว 400 ล้านบาท
สำหรับแผนการใช้เงินในช่วง 2 ปีนี้ แบ่งเป็นการลงทุนในปี 58 ในธุรกิจน้ำประปาในลาว เฟสแรก 480 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินของบริษัทราว 135 ล้านบาท และการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ 8 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 1.4 พันล้านบาท คาดจะใช้เงินลงทุนส่วนของบริษัท 140 ล้านบาท และโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ 15 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 900 ล้านบาท คาดจะใช้เงินลงทุนส่วนของบริษัท 270 ล้านบาท
และในปี 59 คาดว่าจะเป็นการลงทุนในระดับใกล้เคียงกัน เพราะยังเหลือการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานขยะ 8 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ 15 เมกะวัตต์ ขณะที่คาดว่าจะได้งานระบบไฟฟ้าใต้ดินในลาวด้วย ซึ่งมูลค่าการลงทุนจะใกล้เคียงกับธุรกิจน้ำประปาในลาว
ส่วนการใช้เงินลงทุนในระยะต่อไปในปี 60-62 นั้นขณะนี้ยังไม่มีโครงการที่ชัดเจนออกมา แต่ก็มีแผนเตรียมเงินลงทุนไว้รองรับ โดยบริษัทยังมีหุ้นเพิ่มทุนคงเหลือราว 40 ล้านหุ้นที่จะเสนอขายให้กับนักลงทุนในวงจำกัด(PP) คาดว่าจะได้รับเงินราว 500 ล้านบาท รวมถึงอาจจะเป็นการขายหุ้นที่ถืออยู่ 4% ในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด(WEH) ที่คาดว่าอาจจะได้เม็ดเงินราว 2.4 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีกระแสเงินสดเข้ามาราว 3 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทยังมีศักยภาพที่จะจัดหาเงินกู้ได้เพิ่มเติมอีกเช่นกัน
นายพงษ์ศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ และวะตะแบก ของ WEH ซึ่งบริษัทเป็นผู้รับงานก่อสร้างนั้น ขณะนี้ได้เริ่มงานก่อสร้างบ้างแล้ว หลังผู้ถือหุ้นรายอื่นเร่งให้ดำเนินการและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพราะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้ได้ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แม้ในส่วนของเงินกู้ของโครงการยังคงไม่ยุติ เพราะต้องรอการขายหุ้นของนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน WEH สัดส่วน 45% ออกทั้งหมดก่อนก็ตาม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเสนอราคาของผู้สนใจซื้อ คาดว่าจะยุติได้ใน 2 เดือนข้างหน้า
WEH ได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าให้กับกฟผ.จำนวน 12 โครงการ กำลังการผลิตรวม 930 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)แล้ว 660 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้ดำเนินโครงการแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ ห้วยบง 2 และ 3 รวม 180 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการเขาค้อ และวะตะแบก กำลังการผลิตโครงการละ 60 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 59
ขณะที่การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการเขาค้อและวะตะแบก ชะงักลงหลังจากที่นายนพร มีปัญหาคดีความ ทำให้เป็นเงื่อนไขที่ต้องขายหุ้นออกทั้งหมดสถาบันการเงินจึงจะปล่อยเงินกู้ให้ โดยนายนพพร ถือหุ้น 75% ในบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น(REC) และ REC ถือหุ้น WEH สัดส่วน 63%