เนื่องจากผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือน(ต.ค.57- มี.ค.58) ขยายตัว โดยมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ทำให้รายได้เติบโตในทิศทางเดียวกันหรือเติบโต 15% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการมาก
อนึ่ง ในงวดปี 57 (สิ้นสุดก.ย.) AOT มีรายได้ 3.98 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 1.22 หมื่นล้านบาท
ในช่วง 6 เดือนแรกของงวดปี 58 ภาพรวมทั้ง 6 ท่าอากาศยาน มีจำนวนผู้โดยสาร 54.32 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.9% เที่ยวบินมีจำนวน 351,760 เที่ยวบิน ขยายตัว 11% โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผู้โดยสาร จำนวน 274 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.9% ท่าอากาศยานดอนเมือง 13.85 ล้านคน เติบโต 50.2% ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 4.16 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27.2% ท่าอากาศยานหาดใหญ่ 1.75 ล้านคน เติบโต 32.3% ท่าอากาศยานภูเก็ต 6.66 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.2% และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย 845,000 คน เพิ่มขึ้น 25.6%
นายประสงค์ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย พลิกลับมามีกำไร และคาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ( เม.ย.-ก.ย.58) จะดีกว่าประมาณการและดีกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยเป็นอันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย แม้ว่าชาวรัสเซียจะเดินทางเข้าไทยลดลง
นอกจากนั้น ในวันนี้คณะกรรมการรับทราบการปรับราคาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบงบประมาณจำนวน. 62,503.21 ล้านบาท ซึ่งต่อมาคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.)ได้มีข้อสังเกตุขอให้ AOT พิจารณาทบทวนราคานั้น ทางบริษัทได้ปรับเลือกใช้วัสดุสำหรับการก่อสร้างใหม่ ทำให้ลดงบประมาณลงได้ 2,700 ล้านบาท และยกเลิกจ้างที่ปรึกษาจัดการโครงการ(PMC) เพื่อมาดำเนินการเอง ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลดลงจำนวน 300 ล้านบาท
รวมขณะนี้ลดงบประมาณได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท และจะย้งตรวจสอบให้ครบทุกรายการ ซึ่งคาดว่าจะลดงบประมาณได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท โดยจะรู้ผลภายในดือน มิ.ย.นี้ ทั้งนี้เพื่อให้ราคากลางเป็นธรรมกับ AOT
สำหรับการเปิดประกวดราคางานภายใต้โครงการดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้ โดยระหว่างนี้รอผลอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA)ที่ได้ยื่นต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งในส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 และทางวิ่งหรือรันเวย์สำรอง ขณะนี้ทำคู่ขนานกัน
เบื้องต้นคาดว่าจะการอกแบบและเปิดประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมาก่อสร้างภายในเดือน ธ.ค.58 หรืออย่างช้าเดือน ม.ค.59 และจะเริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค.59 โดยส่วนแรกที่จะเปิดปประมูล ได้แก่ การจ้างที่ปรึกษาควบคุมโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 (CSC) ถัดมาจะแยกสัญญาประมูลในส่วนหลุมจอด 28 หลุมและโครงสร้างใต้ดิน และสัญญาจัดทำระบบสาธารณูปโภคก่อน
จากนั้นก็จะมีงานสัญญาโครงการก่อสร้างทางวิ่งสำรอง หรือรันเวย์เส้นที่ 3 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ด้านเหนือ) วงเงิน 2.76 หมื่นล้านบาท และโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ประกอบด้วยงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 งานขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก และงานก่อสร้างอาคารที่จอดรถยนต์และอาคารสำนักงาน ทั้งนี้ จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 85 ล้านคน/ปี
นายประสงค์ กล่าวว่า แหล่งเงินจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท 4.4 หมื่นล้านบาท และมาจากกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่คาดจะมีจำนวน 1 หมื่นล้านบาท/ปี ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี รวม 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ หากไม่เพียงพอจะใช้เงินกู้สถาบันหรือออกหุ้นกู้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)ต่ำ ที่ 0.25 เท่า
ส่วนกรณีที่องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) พบว่าไทยยังมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย(SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศซึ่งจะประกาศผลตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัย(USOAP)ภายหลังวันที่ 2 มิ.ย.58 นั้น นายประสงค์ กล่าวว่า บริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบแม้ว่าสายการบินหรือสายการบินเช่าเหมาลำบางประเทศไม่ให้เดินทางเข้าประเทศนั้นๆ แต่ก็ยังมีสายการบินอื่นที่บินแทนในเมื่อยังมีความต้องการเดินทางอยู่
นอกจากนี้ คณะกรรมการ AOT มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมแก้ไขปัญหากรณีมีผลกระทบจากโครงการ USOAP เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับผลกระบบในทุกกรณีจาการประกาศผลสอบ โดยมีนาวาอากาศตรี ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการ AOT เป็นประธานคณะทำงานดังกล่าว