โบรกฯ มองมาตรการ ธปท.เป็นผลดีต่อศก. แต่กดบาทอ่อนค่ายังต้องใช้เวลา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 30, 2015 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรากรม ปฐมบูรณ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ติอีก 0.25% รวม 2 ครั้งเป็น 0.50% และมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติมของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยรวมมองว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีความเหมาะสมในช่วงเวลาที่เงินบาทแข็งค่า แต่หากเงินบาทอ่อนค่ามากเกินไปก็คงต้องมีการปรับมาตรการอีกครั้ง
"แบงก์ชาติประกาศลดอัตราดอกเบี้ยมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่จะมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตรงนี้มองว่านโยบายกนง.ได้ช่วยเศรษฐกิจแล้ว ส่วนภาคการคลังและภาคเอกชนจะกระตือรือร้นแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่อง หากเงินบาทอ่อนค่าลงก็จะเป็นผลดีต่อการส่งออก ที่ผ่านมาบาทแข็งค่าเป็นผลจากการเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันที่ลดลง และธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ก็ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วย ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ"นายปรากรม กล่าว

นายปรากรม กล่าวต่อว่า ความเคลื่อนไหวของเงินบาทขึ้นอยู่กับ Capital Inflow และ Outflow ดังนั้น จึงเชื่อว่านโยบายของ ธปท.ยังไม่น่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ แต่ในเวลานี้เงินบาทอ่อนค่าเป็นเพียง Sentiment ช่วงสั้นเท่านั้น ทำให้เห็นบาทอ่อนค่าลงมาแถว 32.92 บาท แต่ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะกลับไปแข็งค่าอีก อย่างไรก็ดีมองว่าเงินบาทแถว 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าน่าจะเพียงพอที่จะช่วยเศรษฐกิจได้บ้างแล้ว

"นโยบายของแบงก์ชาตินี้เป็นนโยบายที่จะต้องใช้เวลาหรือรอเวลา เพราะมันไม่ใช่ Capital Control ไม่มีการ Control แต่อย่างไร"นายปรากรม กล่าว

สำหรับมาตรการของ ธปท.ในส่วนของการขยายวงเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง เพิ่มเป็นไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์ จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์ต่อปีนั้น มองว่าจริง ๆ ในทางปฏิบัติทุกวันนี้ก็ทำกันอยู่แล้ว และก็ทำได้มากด้วย จึงเชื่อว่าคงไม่มีนัยเท่าไรนัก เพราะคนที่จะนำเงินออกไปสามารถอนุญาตทางการเป็นกรณีๆ ได้อยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับคนในประเทศจะมีเงินมากแค่ไหนด้วย

ส่วนมาตรการที่ให้โบรกเกอร์ทำธุรกรรม FX ได้นั้น มองว่า ไม่น่าจะทำได้เท่ากับธนาคารพาณิชย์ และการเพิ่มช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ให้บุคคลในประเทศลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านธนาคารพาณิชย์ได้ และเพิ่มผลิตภัณฑ์อย่าง Structured product เป็นเรื่องที่ธนาคารมีขายอยู่แล้ว ไม่น่าจะผลมีอะไรมาก

นอกจากนี้ การขยายวงเงินให้ Non-Resident กู้ยืมเงินบาทเพิ่มเป็น 600 ล้านบาท มองว่าขึ้นอยู่กับต่างประเทศที่จะกู้และธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นน่าจะอยู่ในตลาดพันธบัตรมากกว่า นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับภาวะตลาดการลงทุนโดยรวมด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ