นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ ของ SUPER ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนภายใต้บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าปีนี้จะได้รับ PPA 600 MW และตั้งเป้าว่าจะสามารถ COD ได้ภายในปีนี้ 500 MW ซึ่งหากสามารถทำได้ตามแผนจะทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ที่จ่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นจำนวนเมกะวัตต์มากที่สุดของประเทศ
โดยล่าสุดปีนี้บริษัทได้รับ PPA แล้วจำนวน 41.7 MW โดยเมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 บริษัทเฮลท์ แพลนเนท เมเนจเม้นจ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟภ. 3 โครงการ ปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดรวม 24 เมกะวัตต์ และเมื่อวันที่ 27 เม.ย.58 บริษัทมีเดียมาร์ค จำกัด จำกัด ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟภ. 3 โครงการ ปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดรวม 17.7 MW โดยตามสัญญาทั้ง 2 รายการกำหนด COD ภายในเดือนธ.ค. 58 แต่บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถ COD ได้ภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้แน่นอน จะทำให้สามารถขายไฟฟ้าและรับรู้รายได้ทันที และเป็นการรับรู้เพิ่มเติมจากปี 57 ที่ได้ดำเนินการขายไฟฟ้าอยู่แล้วจำนวน 13.51 MW
"การตั้งเป้าหมาย COD ไว้ที่ 500 เมกะวัตต์นั้น เรามั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมายเพราะบริษัทได้เจรจากับพันธมิตรไว้แล้วและมีความคืบหน้าค่อนข้างมากในการลงทุนทั้งโซลาร์ฟาร์ม พลังงานลมและพลังงานขยะ โดยขณะนี้มี PPA ที่ค้างท่ออยู่ ซึ่งหากทำได้ตามแผนงานที่วางเอาไว้ จะทำให้ผลการดำเนินงานปี 58 เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและมีความโดดเด่นมาก"นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วง 3 ปี ข้างหน้า วางเป้าหมายเอาไว้ว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ 2,000 MW โดยไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมาจากโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งจะมาจากทั้งการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้มาจากจากพลังงานลมและพลังงานขยะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและบางส่วนได้ลงมือก่อสร้างไปแล้ว
ในด้านการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจนั้น บริษัทได้เตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว เพราะธุรกิจด้านพลังงานทดแทนนี้สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้มากถึง 75% ส่วนที่เหลือ 25% มาจากเงินทุนของบริษัท โดยในส่วนนี้ SUPER จะได้รับจากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ SUPER-W1 ที่จะมีการใช้สิทธิในเดือน ก.ค.นี้ SUPER-W2 ที่จะมีการใช้สิทธิในเดือน พ.ย.นี้ รวมถึง SUPER-W3 เมื่อรวมการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ์ทั้ง 3 ครั้ง จะทำให้บริษัทได้รับเงินถึง 14,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังจะมีการเสนอขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 2,000 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.50 บาท ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินเพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท จึงทำให้มั่นใจว่า บริษัทมีเงินลงทุนมากพอสำหรับการขยายธุรกิจดังกล่าว
"หากแผนธุรกิจเป็นไปตามที่วางไว้ก็จะทำให้ปี 58 ผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก หรือเรียกว่าเป็นปีแห่งการเทิร์นอะราวด์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในที่น่าสนใจและเป็นไปตามแผนงานที่ได้วางเอาไว้ และในปีถัดไป 59 ก็จะเป็นปีที่ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตั้งเป้าจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ 1,000 เมกะวัตต์ และภายใน 3 ปี บริษัทได้ตั้งเป้าหมายจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ 2,000 เมกะวัตต์"นายจอมทรัพย์ กล่าว
ขณะที่หนังสือพิมพ์รายงานเช้านี้ โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กำลังติดตามแนวทางการเปิดประมูลการแข่งขันด้านราคา(Competitive Bidding) เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(ไม่รวมแสงอาทิตย์) หลังจากเปลี่ยนจากระบบรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม(ADDER)เดิมมาเป็นFeed in Tariff(FiT) โดยเบื้องต้นพบว่า ระบบสายส่งไฟฟ้ายังไม่เพียงพอรองรับและมีการประเมินว่าระบบส่งจะเพียงพอในปี 60
โดยสมาชิกของกลุ่มได้รายงานว่า มีเอกชนเสนอขายไฟจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงพลังงาน เพราะไม่มีสายส่งไฟฟ้ารองรับ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ภาคเอกชนต้องการความชัดเจนเพราะภายใต้แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ได้กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ค่อนข้างมาก โดยปลายแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ในปี 79 ตั้งเป้ารับซื้อไฟฟ้าสูงถึง 19,635 MW