ร่วมทุนในครั้งนี้ กลุ่มอมตะ จะลงทุนในสัดส่วน 70% กลุ่มต่วนเจา 30% โดยโครงการจะถูกแบ่งพื้นที่เป็น 3 เขต โดยจะใช้เงินลงทุนในส่วนของกลุ่มอมตะในเฟสแรก 8.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยังมองหาพันธมิตรสิงคโปร์ เกาหลี และญี่ปุ่นที่ลงทุนในเวียดนามด้วย
ส่วนความคืบหน้าการนำหุ้นบมจ.อมตะ วีเอ็น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)นั้น คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 3/58 โดยเตรียมยื่นขอปรับปรุงข้อมูล(อัพเดท)แบบเสนอขายหุ้น(ไฟลิ่ง)ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ในเดือนมิ.ย.นี้ แต่หากก.ล.ต.สอบถามข้อมูลเป็นจำนวนมากก็อาจจะทำให้การขายหุ้น IPO และการเข้าซื้อขายใน SET อาจจะเลื่อนไปเป็นไตรมาส 4/58
นางสมหะทัย กล่าวว่า โครงการ"อมตะซิตี้ ฮาลอง"มีมูลค่าลงทุนทั้งหมด 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนา 10-15 ปี นับจากปี 59 โดยเฟสแรกจะลงทุนในไตรมาส 1/59 พื้นที่ 3,100 ไร่ เงินลงทุนเบื้องต้น (ทุนจดทะเบียน) 12 ล้านเหรียญสหรัฐ (จากมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของเฟสแรก 60 ล้านเหรียญสหรัฐ) แต่เนื่องจากอมตะ วีเอ็นถือหุ้น 70% ก็ใส่เงินลงทุนก้อนแรกราว 8.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และอีก 30% เป็นของต่วนเจา
โดยเม็ดเงินลงทุนจะมาจากการขายหุ้น IPO คาดว่าเงินจะเข้าปลายปี 58 และเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยเฟสแรกจะพัฒนาและขายไปด้วยกัน ซึ่งคาดว่าเฟสแรกจะใช้เวลาพัฒนาเสร็จใน 2-3 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการขอใบรับรองการลงทุนจากรัฐบาลเวียดนาม โดยคาดว่าจะได้รับใบรับรองภายในไตรมาส 3/58 หลังจากนั้นจะมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับทางกลุ่มต่วนเจาต่อไป จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างเฟสแรก ไตรมาส 1/59
"เฟสแรกต้องทำเป็นโรงงานอุตฯ เพื่อให้มีผู้มาใช้พื้นที่ก่อนก่อน เฟสถัดไปก็จะเริ่มสร้างที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม โรงเรียน โลจิสติกส์"นางสมหะทัยกล่าว
นางสมหะทัย กล่าวอว่า อมตะ วีเอ็น ยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรรายใหม่เพื่อเข้ามาร่วมพัฒนานิคมอมตะซิตี้ ฮาลอง โดยอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ที่ประกอบธุรกิจในเวียดนามเพื่อมาเสริมอมตะ วีเอ็นให้แข็งแรงขึ้น
สำหรับการลงทุนของบมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ในปีนี้ตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 4,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในประเทศเวียดนาม 60% ของเงินลงทุนรวมและการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในไทย 40% ขณะที่ AMATA ถือหุ้น ในอมตะ วีเอ็นราว 90% ซึ่งภายหลังเสนอขาย IPO แล้ว AMATA จะลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 70% โดยปี 57 บริษัท อมตะ วีเอ็น มีรายได้ 500-600 ล้านบาท กำไรสุทธิ 200 ล้านบาท ปัจจุบัน AMATA มีนิคมอุตสาหกรรมในไทย 2 แห่ง ได้แก่ อมตะนคร ในจ.ชลบุรี และอมตะซิตี้ ในจ.ระยอง ขณะที่มีนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่งในเวียดนาม ภายใต้ชื่ออมตะ เบียนหัว ดำเนินการโดยอมตะ วีเอ็น ขณะที่ปีที่แล้วอมตะ วีเอ็น เปิดตัวโครงการ"อมตะซิตี้ลัมถั่น"จ.ดองไน ประเทศเวียดนาม โดยคาดว่าการลงทุนในโครงการดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงกว่า 530 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะใช้เวลาพัฒนาโครงการ 10-15 ปี
ส่วนความร่วมมือกับกลุ่มต่วนเจาครั้งนี้ เกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 เม.ย.55 นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ อมตะ วีเอ็น ได้พบกับนายดาว ฮอง เตวี๋ยน ประธานกรรมการบริหารกลุ่มต่วนเจา หลังการหารือได้มีความเห็นตรงกันในการที่จะสร้างเมืองอนาคต เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อจ.กว๋างนิง ประเทศเวียดนาม โดยได้รับการสนับสนุนจากจ.กว๋างนิง ในการเตรียมการขออนุญาตในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยดีมาตลอด จนนำมาซึ่งข้อตกลงการร่วมทุนกับกลุ่มต่วนเจาครั้งนี้