GPSC จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 374.57 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 10 บาท โดยมี บล.เคที ซีมิโก้, บล.ฟินันซ่า และบล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อระดมทุนไปใช้ขยายกิจการด้านพลังงานทั้งและต่างประเทศ ขณะที่วันนี้บริษัทได้แต่งตั้งทั้ง 3 บริษัท เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของบริษัท
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า ในฐานะตัวแทนของผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ GPSC กล่าวว่า การกำหนดราคาขายหุ้น IPO ที่หุ้นละ 27 บาทนั้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน โดยให้ส่วนลด 15% และมีระดับ P/E ที่ 20 เท่า สำหรับการกระจายหุ้นจะจัดสรรให้กับนักลงทุนรายย่อยและสถาบันในประเทศทั้งหมด ขณะที่คาดว่าการเข้าซื้อขายครั้งนี้จะใช้ชื่อย่อหุ้นว่า GPSC
พร้อมกันนี้ยังมีบล.บัวหลวง ,บล.กสิกรไทย ,บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ,บล.ฟินันเซีย ไซรัส ,บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) และบล.อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้น IPO ครั้งนี้ด้วย
ภายหลังการขายหุ้น IPO ครั้งนี้จะทำให้กลุ่ม PTT ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 75% จากปัจจุบันที่ PTT ถือหุ้นในสัดส่วน 30.10% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 30.31% บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 11.88% และ บจ.ไทยออยล์ พาวเวอร์ (TP) 27.71%
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC กล่าวว่า จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้ในการขยายกิจการในธุรกิจต่างๆทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นการซื้อกิจการโรงไฟฟ้า และลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น ,โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
"บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าซื้อกิจการผลิตไฟฟ้า 2 ดีล ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีกำลังการผลิตหลายร้อยเมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปผลการเข้าซื้อกิจการได้ในช่วงครึ่งปีหลัง"นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ขยายการผลิต ทั้งการเข้าซื้อกิจการ และการพัฒนาโครงการด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 17% และเพิ่มขึ้นอีก 1 พันเมกะวัตต์ในระยะเวลา 5 ปี หรือภายในปี 62 จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตทั้งหมดกว่า 2 พันเมกะวัตต์
สิ้นปี 57 บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่เดินเครื่องแล้ว โดยเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,315 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 1,345 ตัน/ชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 12,000 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 2,080 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง เมื่อรวมกับกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 1,851 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 1,512 ตัน/ชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 12,000 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 2,080 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง
ปีที่ผ่านมา GPSC มีรายได้รวม 23,891 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,581 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 1/58 บริษัทมีรายได้รวม 6,473 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 531 ล้านบาท โดยในไตรมาสแรกปีนี้สามารถรับรู้ส่วนแบ่งการลงทุนจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทุกโรงในไตรมาสดังกล่าว
นายนพดล กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการในปีนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯครั้งนี้จะได้เงินราว 1 หมื่นล้านบาท จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนทางการเงิน และช่วยหนุนให้กำไรเพิ่มขึ้นด้วย