LIT ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปีนี้ 1.15 พันลบ. คุม NPL ไม่เกิน 2% ต่ำกว่าอุตฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 8, 2015 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ลีซ อิท(LIT) กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าสินเชื่อน่าจะแตะที่ระดับ 1,150 ล้านบาท และบริษัทได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยเตรียมออกหุ้นกู้ในวงเงินประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของช่วงเวลาการออกหุ้นกู้เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกที่สุด
"ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีสำหรับการขยายตลาดสู่การปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีหนี้ภาคเอกชนขนาดใหญ่ เพราะตลาดยังมีช่องว่างให้เข้าไปเพิ่มฐานลูกค้า"นายสมพล กล่าว

นายสมพล กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทจะเริ่มปรับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อ โดยสินเชื่อภาคเอกชนเพิ่มเป็น 30% ภาครัฐ 70% จากเดิมสัดส่วนสินเชื่อภาคเอกชนอยู่ที่ 20% ภาครัฐอยู่ที่ 80% และเร่งขยายความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อนอกเหนือจากสินค้าไอที

สำหรับพอร์ตสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/58 อยู่ที่ 912.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากสิ้นปีที่ผ่านมามีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 859.04 ล้านบาท และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่ารายได้และกำไรของบริษัทในปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ตามแผนที่วางไว้

นอกจากนี้ บริษัทวางเป้าหมายจะรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ไม่เกิน 2% ของสินเชื่อรวม หลังยอด NPL ล่าสุดอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3-4% เนื่องจากมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ และมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถสกรีนลูกค้าที่มีศักยภาพได้

"การที่สถาบันการเงินคุมเข้มปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี เนื่องจากกังวลปัญหาเศรษฐกิจ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายสินเชื่อแฟคตอริ่งของบริษัทด้วย โดยหลังจากที่ได้ระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจ และยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน เพื่อนำเงินไปปล่อยสินเชื่อให้ได้ตามแผน"

ขณะที่ในไตรมาส 1/58 บริษัทมีรายได้รวม 42.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 15.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลเร่งหน่วยงานภาครัฐใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 58 ที่ยังค้างท่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อว่าในช่วงจากนี้ไปการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นคู่ค้าภาครัฐ มีความต้องการสินเชื่อแฟคตอริ่งมากขึ้น และเข้ามาติดต่อขอรับสินเชื่อกับบริษัท เนื่องจากมีจุดแข็งในการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี อนุมัติเงินกู้ให้ลูกค้าได้รวดเร็ว ให้วงเงินสูง และที่สำคัญไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ