MILL คาดโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างเหล็กรูปพรรณในพม่าเดินเครื่องได้ต.ค.58

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 12, 2015 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.มิลล์คอน สตีล (MILL) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างเหล็กรูปพรรณที่ประเทศพม่าจะเดินเครื่องในเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.58 และสามารถรับรู้รายได้ทันที หลังจากที่บริษัทได้ทำพิธีตอกเสาเข็มก่อสร้างโรงงานไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โรงงานดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินการกิจการของบริษัท มิลล์คอนเอนจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรูปพรรณประเภทเหล็กท่อ ร่วมถือหุ้นโดย บมจ.มิลล์คอนสตีล 45% บมจ.เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง สัดส่วน 45% ที่เหลือ 10% ถือหุ้นโดยพันธมิตรพม่า ใช้เงินลงทุนประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐมีกำลังการผลิต 64,397 ตันต่อปี ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวได้สิทธิประโยชน์การลงทุนจากรัฐบาลพม่าโดยได้รับการยกเว้นภาษี 7 ปี

การลงทุนดังกล่าวเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 58 ประเทศพม่าถือว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างสูงทั้งนี้จากการลงทุนของภาครัฐบาลพม่าในการสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุนจากนานาประเทศ ซี่งบริษัทมีเป้าหมายจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มวัสดุก่อสร้างอย่างครบวงจรเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดทางให้บริษัทที่เป็นธุรกิจเหล็กสัญชาติไทยที่ได้เข้าไปนำร่องอุตสาหกรรรมการก่อสร้างในประเทศพม่า

“การเข้าไปลงทุนในพม่าครั้งนี้บริษัทเห็นว่าโอกาสการเติบโตของพม่าโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศรวมทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล้วนแต่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแถมเรายังได้รับการยกเว้นภาษี 7 ปีซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเติบโตสูงในอนาคต

ด้านนายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่า หลังจากที่พม่าได้มีการปฏิรูปประเทศทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูงและติดอันดับชั้นนำของอาเซียนทุกประเทศว่าภายใน 3-5 ปีนี้ เศรษฐกิจของพม่าจะมีอัตราการเติบโตกว่า 7.8% ถือเป็นระดับที่เข้มแข็งมาก

"ถ้าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ นโยบายและการเมืองของพม่ายังคงเป็นอยู่เหมือนกับปัจจุบัน การพัฒนาก็จะก้าวหน้ามากขึ้นขณะที่รัฐบาลไทย ก็มีการพัฒนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่าเพื่อสนับสนุนการลงทุนการลงทุนจากภาคเอกชน โดยมีโครงการที่พัฒนาร่วมกันเช่น การพัฒนาคมนาคม การขนส่งทางน้ำและทางอากาศ รวมทั้งระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น"นายพิษณุกล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยพยายามสนับสนุน เพื่อผลักดันนักลงทุนที่มีความสามารถ และทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์จะได้มีโอกาสเข้ามาลงทุนในพม่าเหมือนกรณีของบริษัท มิลล์คอน เอนจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูต พร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือนักลงทุนที่ต้องการข้อมูลและเข้ามาทำธุรกิจในพม่าทุก ๆ ด้าน

สำหรับความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจคือเรื่องของการสร้างความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของพม่า รวมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบต่างๆที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความแข็งแรงทัดเทียมประเทศอื่นๆในอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ