อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัท ตลอดจนประโยชน์จากการผสานพลังในกลุ่มธุรกิจ และความหลากหลายในธุรกิจพร้อมตราสินค้าที่มีชื่อเสียง การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมกว้างขวาง และโอกาสการเติบโตในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในภูมิภาคอินโดจีนด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เศรษฐกิจที่ซบเซาซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการก่อหนี้เพื่อการขยายกิจการ และความท้าทายที่บริษัทจะต้องเผชิญในการฟื้นฟูอัตรากำไร
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" แสดงถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถคงความแข็งแกร่งในการแข่งขันในสายธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับอัตราการทำกำไรและเพิ่มความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้
ความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการที่บริษัทเปลี่ยนไปใช้นโยบายการก่อหนี้เชิงรุกหรือหากการทำกำไรของบริษัทยังคงลดลง ในขณะที่การปรับขึ้นของอันดับเครดิตจะเกิดจากการที่ธุรกิจซึ่งขยายตัวไปในต่างประเทศสร้างยอดขาย กำไร และกระแสเงินสดที่มากขึ้น
BJC มีประวัติการประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่ยาวนานกว่า 1 ศตวรรษ ในปี 2544 บริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท และ ณ เดือนมีนาคม 2558 กลุ่มบริษัททีซีซีมีสัดส่วนการถือหุ้น 73.7% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ กลุ่มบริษัททีซีซีเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท โดยมี บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่สำคัญในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง
บริษัทดำเนินการผลิตและให้บริการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายประเภท โดยครอบคลุมตลาดในประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ปัจจุบันธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทำการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทขวดแก้วและกระป๋องอะลูมิเนียม 2) กลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค 3) กลุ่มสินค้าและบริการด้านสุขภาพและด้านเทคนิค ซึ่งเน้นสินค้าด้านเวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าทางเทคนิค 4) ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยร้านหนังสือเอเซีย บุ๊คส และธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในปี 2556 บริษัทยังได้เริ่มธุรกิจค้าปลีกโดยเปิดร้าน “Ogenki" ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าเพื่อความงามและสุขภาพ และเข้าไปลงทุนในหุ้นของ ร้าน “B’s mart" และ “M-point mart" ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อที่ดำเนินการผ่านผู้ประกอบการอิสระในประเทศเวียดนามและลาวตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในบริษัทกระจายสินค้าในประเทศเวียดนามซึ่งทำการกระจายสินค้าได้ครอบคลุมทั้งตอนเหนือและตอนใต้ของเวียดนามด้วย
ในปี 2557 บริษัทมียอดขายทั้งสิ้น 43,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2556 โดยกลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์เป็นสายธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทสูงสุดคิดเป็น 42% ของยอดขายรวม อีก 38% มาจากรายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค และ 18% เป็นรายได้จากกลุ่มเวชภัณฑ์รวมกับกลุ่มสินค้าเทคนิค นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัทด้วย โดย 67% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มาจากกลุ่มธุรกิจนี้
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงเสริมจากความหลากหลายของธุรกิจและแหล่งรายได้ โดยบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำภายในประเทศในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภค ธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่องของบริษัทไทยเบฟเวอเรจซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35% ของยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งในกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภคของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากตราสินค้าชั้นนำต่าง ๆ ด้วย เช่น เซลล็อกซ์ ซิลค์ เทสโต โดโซะ นกแก้ว และตราสินค้าที่รับจ้างผลิตหลัก ๆ เช่น ซูกัส นีเวีย และเบบี้มายด์ ทั้งนี้ ความพยายามในการขยายเครือข่ายการกระจายสินค้าช่วยสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการให้บริการจัดจำหน่ายของบริษัทให้เข้าถึงผู้บริโภคปลายทางทั่วภูมิภาคอินโดจีนได้ด้วย
ความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางซึ่งได้รับแรงหนุนจากความหลากหลายของที่มาของรายได้ ตลอดจนจากการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และระดับสภาพคล่องที่เพียงพอ แต่ก็ถูกลดทอนด้วยระดับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและการทำกำไรที่ลดลง ยอดขายของบริษัทเติบโตในอัตราตัวเลข 2 หลักในช่วงปี 2553-2556 ถึงแม้ว่าจะได้ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่บริษัทก็ยังเติบโตได้ 3% ในปี 2557 โดยเติบโตจากตลาดเวียดนาม คาดว่าในปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวไม่มากโดยได้รับแรงกดดันจากภาระหนี้ของภาคครัวเรือนที่สูง ในช่วงปี 2558-2560 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโต 5%-7% ต่อปี โดยปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจจะมาจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวและการเติบโตจากยอดขายในตลาดต่างประเทศ
ตลาดต่างประเทศทวีความสำคัญมากขึ้นโดยสร้างรายได้คิดเป็นประมาณ 23.6% ของยอดขายรวมของบริษัทในปี 2557 โดยเพิ่มขึ้นจาก 12% ในปี 2555 และ 19% ในปี 2556 รายได้จากต่างประเทศช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนในการเติบโตของบริษัทในช่วงเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว กล่าวคือ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้สร้างเครือข่ายกระจายสินค้าที่กว้างขวางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม และต่อไปบริษัทก็กำลังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่จะขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้วย ปัจจุบันบริษัทกำลังเผชิญกับความท้าทายในการผสานพลังทางธุรกิจในกลุ่มและและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการทำกำไร
อัตราส่วนกำไร (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขาย) ของบริษัทลดลงจาก 12.2% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 10.4% ในปี 2557 เนื่องจากการลดลงในการทำกำไรในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว โดยอัตรากำไรของกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปรับลดลงจาก 21% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 19% ในปี 2557 และอัตรากำไรในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงจาก 7% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 4% ในปี 2557 อันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งจากการขาดทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจโยเกิร์ตและนมเปรี้ยว และจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวในสินค้ากลุ่มขนมขบเคี้ยว เมื่อพิจารณาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวและความพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องของบริษัทแล้วคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 12% ในช่วงปี 2558-2560
สถานะด้านภาระหนี้สินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง เงินกู้รวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านเนื่องจากการขยายกำลังการผลิตและเครือข่ายการจัดหน่าย อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 48% ในปี 2556 และปี 2557 บริษัทวางแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2558-2560 โดยรวมที่ 10,000 ล้านบาทเพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตสำหรับสินค้าบรรจุภัณฑ์และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ คาดว่าภาระหนี้สินของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า หากไม่มีการซื้อกิจการใหญ่ที่ใช้เงินทุนจากการกู้ยืมก็คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับไม่เกิน 50% สำหรับการลงทุนหรือการซื้อกิจการขนาดใหญ่นั้น บริษัทมีนโยบายใช้หนี้สินต่อทุนในสัดส่วน 1: 1 ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรักษาโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งไว้ได้
เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4,178 ล้านบาทในปี 2557 เปรียบเทียบกับระดับ 4,613 ล้านบาทในปี 2556 บริษัทมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจากการมีความหลากหลายทางธุรกิจและตลาดที่ครอบคลุม สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอถึงแม้ว่าจะอ่อนตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่าน โดยคาดว่าในช่วงปี 2558-2560 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในระดับ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ในช่วง 27%-30%