ตลท.เพิ่มเกณฑ์คัดเลือกหุ้น SET50-SET100 ทบทวน มิ.ย.58 ปรับ TRI 1 ก.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 12, 2015 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผยว่า ตลท.จะปรับเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์เพื่อเป็นองค์ประกอบของดัชนี SET50 และ SET100 โดยจะพิจารณาสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายเทียบกับจำนวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัทเป็นการเพิ่มเติมจากเกณฑ์ปัจจุบันที่พิจารณาเฉพาะมูลค่าซื้อขายของหลักทรัพย์เทียบกับมูลค่าซื้อขายของตลาดโดยรวม ทั้งนี้ จะเริ่มใช้ตั้งแต่รอบการทบทวนดัชนีเดือนมิถุนายน 58 เพื่อใช้ในการคำนวณดัชนีระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 58 เป็นต้นไป

ตลท.ได้รับข้อสังเกตจากผู้ใช้ดัชนีหลายราย รวมทั้งศึกษาแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำต่างๆ จึงได้พิจารณาการทบทวนเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์มาเป็นองค์ประกอบของดัชนี โดยเน้นให้หลักทรัพย์ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นองค์ประกอบของดัชนีเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและซื้อขายได้ (Tradable) ทั้งนี้ เกณฑ์ใหม่จะพิจารณาปริมาณซื้อขายของหลักทรัพย์เป็นการเพิ่มเติม ขณะที่เกณฑ์ด้านอื่น ๆ ยังคงเดิมได้แก่ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) การกระจายของผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) และมูลค่าซื้อขายของหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดโดยรวม เพราะเป็นหลักการที่สอดคล้องกับผู้จัดทำดัชนีรายอื่นๆ อยู่แล้ว

ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET50 และดัชนี SET100 ต้องอยู่ในกลุ่มของหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด 200 ลำดับแรก มี Free Float ไม่น้อยกว่า 20% มีมูลค่าซื้อขายตามสภาพปกติอย่างต่อเนื่อง คือ ไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อหลักทรัพย์ทั้งตลาดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 9 ใน 12 เดือน และมีจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายอย่างน้อย 5% ของหุ้นจดทะเบียนทั้งหมดของบริษัทในเดือนเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ตลท.อาจปรับลดอัตราส่วนมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อหลักทรัพย์ จำนวนเดือน หรืออัตราส่วนจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายลงเพื่อให้ได้จำนวนหลักทรัพย์อย่างน้อย 105 หลักทรัพย์

นอกจากนี้ ตลท.จะปรับปรุงการคำนวณดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return Index: TRI) ซึ่งใช้วัดผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในหลักทรัพย์ ทั้งผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักทรัพย์ (Capital Gain) และผลตอบแทนจากเงินปันผล โดยจะใช้การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาในแต่ละวันเป็นเครื่องชี้วัดผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักทรัพย์ (Capital Gain) แทนการใช้การเปลี่ยนแปลงมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเดียวกับสากล อีกทั้งยังทำให้ TRI และดัชนีราคามีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้ จะเริ่มคำนวณ TRI ตามวิธีใหม่ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ