อีกทั้งตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1/58 ที่ออกมาไม่ค่อยดี ส่งผลให้หลายสำนักวิจัยมีการปรับลดประมาณการณ์กำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) ลงอีก 10% จากต้นปี ตลาดจึงตอบสนองกับการปรับลดดังกล่าว ทำให้ดัชนีปัจจุบันปรับลงมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,500 จุด
ทั้งนี้ ปัจจัยของเรื่องค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าก็มีผลต่อดัชนี ซึ่งมองว่าในช่วงไตรมาส 2/58 เป็นช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าตามปกติ เนื่องด้วยเป็นไปตามสภาพของการส่งออก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จึงทำให้นักลงทุนนำเงินออกนอกประเทศ จะเห็นได้ชัดเจนได้ในช่วงเดือนพ.ค.นี้ โดยประเมินเงินบาทจะอ่อนค่าอยู่ที่ 34.00 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันเงินบาทอยู่ที่ 33.70 บาท/ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ดัชนียังมีโอกาสปรับตัวลงอีก โดยบล.กสิกรไทย คาดการณ์ดัชนีจะลงไปทดสอบระดับต่ำสุดที่ 1,450 จุด ในช่วงเดือนมิ.ย.58 และหากดัชนีมีการปรับตัวขึ้นเกินระดับ 1,500 จุด แนะนักลงทุนลดพอร์ตออก
พร้อมกันนี้คาดว่าตลาดน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จากการส่งออกและการบริโภคที่ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันยังมีความหวังในเรื่องของการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยภาครัฐน่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณมากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยภาคนอกที่หลายฝ่ายยังคงรอความชัดเจนอยู่ในขณะนี้ ในเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่น่าจะเห็นความชัดเจนได้เช่นกัน โดยประเมินดัชนีเป้าหมายที่ระดับ 1,620 จุด
"ตลาดหุ้นที่ปรับลงเป็นเรื่องปกติ โดยมองใน 2 ปัจจัยหลัก คือ เศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ การส่งออก 4 เดือนที่ผ่านมาติดลบ การบริโภคยังไม่ฟื้นตัว การลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติถึง 2 ครั้ง ตอกย้ำ GDP ประเทศที่ค่อนข้างแย่ ขณะที่หลายสำนักมีการปรับลด EPS ของบริษัทจดทะเบียนลงอีก 10% ตลาดจึงตอบสนองกับการปรับลดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามตลาดน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ กับการคาดหวังการเร่งใช้จ่ายเงินภาครัฐ ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน"นายกวี กล่าว