(เพิ่มเติม) BCP เล็งใช้เงิน 5 ล้านเหรียญฯเข้าถือหุ้น 7% เหมืองลิเทียมในสหรัฐกลางปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 14, 2015 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) เล็งใช้เงิน 5 ล้านเหรียญฯเข้าถือหุ้น 7% เหมืองลิเทียมในสหรัฐกลางปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมองโอกาสในการเพิ่มถือหุ้นเหมืองลิเทียมเพิ่ม พร้อมร่วมทุนตั้งโรงงานรองรับผลผลิตดังกล่าว

นอกจากนี้ ในปีนี้ BCP คาดว่าจะได้ข้อสรุปเจรจาซื้อแหล่งปิโตรเลียมอีก 1-2 ราย พร้อมตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมเป็น 1 หมื่นบาร์เรล/วัน โดยมองว่าธุรกิจสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมในช่วงไตรมาส 2/58 จะดีกว่าในไตรมาส 1/58 จากที่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น และมีแผนเปิดสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ 40 แห่งปีนี้ จากปกติเปิดปีละ 15-20 แห่ง

ขณะที่ตั้งเป้าเพิ่มการกลั่นน้ำมันเป็นเฉลี่ยปีละ 1.1 แสนบาร์เรล/วันใน 3 ปี

BCP ยังคาดว่าการเจรจาซื้อกิจการหรือร่วมทุนโรงไฟฟ้าในอาเซียนจะสามารถสรุปได้ภายในปีนี้เช่นกัน และตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าเป็น 250 เมกะวัตต์ในปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 118 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างศึกษาขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นอีก 40 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP กล่าวว่า การลงทุนในธุรกิจลิเทียมจะเป็นการเข้าไปถือหุ้นใน Western Lithium(WLC) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในแคนาดา แบ่งเป็นการลงทุน 2 ระยะ ระยะแรก 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และระยะสอง 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นราว 7% ในช่วงกลางปีนี้

บริษัทดังกล่าวมีเหมืองลิเทียมที่ลาสเวกัสในสหรัฐ ที่มีปริมาณสำรองราว 2 ล้านตัน รองรับการผลิตได้ 20-30 ปี และมีแผนจะก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม ขนาด 2 หมื่นตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 400 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าทั้งเหมืองและโรงงานจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 60 ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้กลับมาให้บริษัทได้ใน 3-5 ปีข้างหน้า

"ความต้องการใช้ลิเทียมเติบโตมากคาดว่าอีก 10 ปีจะเติบโตถึง 3 เท่า การใช้แบตเตอรี่ลิเทียมน่าจะเติบโตได้ 5-6 เท่า ตลาดค่อนข้างเยอะ เราจะลงทุน 5 ล้านเหรียญฯในบริษัทจดทะเบียนที่เป็นเจ้าของเหมืองลิเทียมที่เวกัส ซึ่งบอร์ดอนุมัติเมื่อเดือนที่ผ่านมา...ก็มีโอกาสที่จะเจรจาเพื่อถือหุ้นเพิ่มในอนาคต"นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ ยังยืนยันว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) ในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 10,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 5,162 ล้านบาทในปีที่แล้ว แม้ในไตรมาส 1/58 จะทำ EBITDA ได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาที่ 2,333 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับรู้ขาดทุนสต็อกน้ำมัน(stock loss) แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้จะอยู่ที่ราว 58-72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ก็จะทำให้ไม่มีผลขาดทุนจากสต็อก ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป

เป้าหมายของ EBIDA ในปีนี้จะมาจากธุรกิจกลั่นน้ำมัน 39% ,การตลาด 23% ,ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 26% ,Biofuel สัดส่วน 5% และธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P) สัดส่วน 7%

นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ก็จะทำให้ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ดำเนินการโดย Nido Petroleum Limited (Nido) บริษัทย่อย ซึ่งมีสัดส่วนถือหุ้นราว 55% ในแหล่งผลิตน้ำมันดิบในแหล่ง Galoc ที่ฟิลิปปินส์ จะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นในไตรมาส 2 นี้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกด้วย ขณะที่บริษัทวางเป้าหมายจะเพิ่มเป้าการผลิตปิโตรเลียมเป็น 10,000 บาร์เรล/วันในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการผลิตใน Galoc ที่เดียวราว 3,500 บาร์เรล/วัน โดยการเพิ่มการผลิตดังกล่าวจะเป็นการเข้าซื้อกิจการใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ 1-2 รายในปีนี้ ซึ่งอยู่บริเวณอ่าวไทย,ทะเลจีนใต้ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น BCP มีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนเป็น 250 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีการผลิตแล้วในไทย 118 เมกะวัตต์ ขณะที่ได้เข้าร่วมทุน 70% ในโซลาร์ฟาร์ม ที่ญี่ปุ่น ที่มีกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มพัฒนาในปลายปีหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะลดสัดส่วนการลงทุนในโครงการนี้เหลือราว 50% เพื่อเปิดทางให้พันธมิตรจากไทยเข้ามาร่วมถือหุ้นอีก 1 ราย สัดส่วน 20% จากปัจจุบันที่มีกลุ่ม บมจ.เชาว์ สตีล อินดัสทรี้(CHOW) ถือหุ้นอยู่ 30% ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะกรรมการในปลายเดือนพ.ค.นี้

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น ยังได้พิจารณาที่จะขยายกำลังการผลิตในพื้นที่ใหม่เพิ่มเติมด้วย โดยจะมีกำลังการผลิตราว 40 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 4 พันล้านบาทด้วย ขณะเดียวกันในส่วนของบริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนโซลาร์ฟาร์มแห่งใหม่ๆ ทั้งในประเทศและแถบอาเซียน เพื่อขยายกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้า 250 เมกะวัตต์ในปีนี้

ส่วนธุรกิจการกลั่นน้ำมันในปีนี้ สามารถดำเนินการกลั่นได้ในระดับมากกว่า 1 แสนบาร์เรล/วันได้ต่อเนื่อง 4-5 เดือนแล้วทำให้คาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะสามาถรักษาระดับการกลั่นที่ 1.1 แสนบาร์เรล/วันได้ ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับกำลังการผลิตเต็มที่ที่ 1.2 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่แนวโน้มของค่าการกลั่น(GRM) ในปัจจุบันนับว่ายังอยู่ในระดับที่ดี

นายชัยวัฒน์ ยังได้กล่าวถึงธุรกิจการตลาดของบริษัทว่า ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมันอยู่เป็นอันดับ 2 ที่ระดับ 14.7% รองจากบมจ.ปตท.(PTT) ที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 37.2% โดยในปีนี้มีแผนจะใช้เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท เพื่อขยายสถานีบริการน้ำมันมาตรฐาน 40 แห่งในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าปกติที่มีการขยายประมาณปีละ 10-20 แห่ง จากปัจจุบันที่มีสถานีบริการของบริษัทและที่ร่วมกับสหกรณ์ รวมประมาณ 1 พันแห่งทั่วประเทศ โดยการขยายสถานีบริการดังกล่าวเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และเป็นการขยายธุรกิจในส่วนของ non-oil ให้เติบโตตามไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ