นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ประกาศใช้ “ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สามของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)" (Onshore Natural Gas Transmission Pipeline Third Party Access Code of PTT: TPA Code) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.58 อันเป็นไปตามมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่น ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของตน
ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานประกาศหรือกำหนด ดังนโยบายของ กกพ. ที่มุ่งส่งเสริมให้มีการแข่งขันเสรีในกิจการพลังงาน และมีการบริการของระบบโครงข่ายพลังงานอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.
แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ส.ค.57 ให้ชะลอแนวทางการแยกธุรกิจท่อส่งก๊าซฯออกมาเป็นบริษัทใหม่ แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจปตท. จึงได้ดำเนินการแบ่งแยกระบบบัญชีและศึกษาแนวทางจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม เพื่อรองรับแนวคิดของภาครัฐ จนสามารถประกาศข้อกำหนดฯ ดังกล่าว โดยไม่มีผลกระทบต่อฐานะความเป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซธรรมชาติของรัฐแต่อย่างใด
"ปตท.ได้ปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐในการเปิดเสรีท่อก๊าซฯ เพื่อยืนยันถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาล ซึ่ง ปตท.ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่การปฏิบัติตามกฎหมายหรือนโยบายของภาครัฐเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ ทั้งในฐานะหน่วยงาน องค์กร หรือ บุคคล โดยไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ เช่นเดียวกับการแบ่งแยกและส่งคืนทรัพย์สินท่อก๊าซธรรมชาติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ซึ่ง ปตท. ได้ดำเนินการครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ดังความเห็นของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ความเห็นตลอดมา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนยันตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เป็นข้อยุติแล้ว"นายชาครีย์ กล่าวเสริมในตอนท้าย