SSI คาด Q3/58 พลิกเป็นกำไร หลังสเปรดกลับสู่ภาวะปกติ-ปริมาณขายดีขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 14, 2015 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) คาดว่าจะกลับมามีกำไรได้ในไตรมาส 3/58 หลังจากขาดทุนสุทธิต่อเนื่องมาหลายไตรมาสซึ่งรวมถึงในไตรมาสแรกปีนี้ด้วย โดยมองว่าปริมาณขายจะเริ่มกลับมาบางส่วนในไตรมาส 2 และส่วนต่างราคาจะกลับมาสู่ระดับปกติ
"สำหรับแนวโน้มตลาดระยะสั้นเริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากที่ราคาลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกตลาดทั่วโลกติดต่อกันถึง 7 เดือน ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกในบางตลาด มีการปรับขึ้นราคาล่าสุดสำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภทในสหรัฐอเมริกา ตลาดยุโรปตอนเหนือ และตุรกี ส่วนน้ำมันดิบ แร่เหล็กและเศษเหล็กมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นซึ่งเป็นแรงผลักดันตลาด เราคาดว่าปริมาณขายจะกลับมาบางส่วนในไตรมาสสอง และส่วนต่างราคาจะกลับมาสู่ระดับปกติในไตรมาสสามที่เราคาดว่าจะกลับมามีกำไร"นายวิน กล่าว

SSI แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ในไตรมาส 1/58 มีผลขาดทุนสุทธิ 3.03 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม ลดลง 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาที่ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยยอดขายของธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนลดลงมากถึง 46% และยอดขายของธุรกิจโรงถลุงเหล็กที่ขายให้แก่บุคคลภายนอก ลดลง 28% ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) ติดลบ 1.65 พันล้านบาท

นายวิน กล่าวว่า ภาวะตลาดในช่วงไตรมาสแรกมีความท้าทายอย่างมากและยากลำบากที่สุดที่ได้พบในหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกเหล็กที่ได้รับการอุดหนุนจากจีนยังคงสูงจากปัญหากำลังการผลิตล้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ค่าเงินสกุลรูเบิลรัสเซียที่ตกต่ำอย่างผิดปกติได้ส่งผลให้ผู้ส่งออกเหล็กของรัสเซียได้เปรียบ ซึ่งเป็นสถานการณ์การค้าที่ไม่ปกติ โดยบริษัทกำลังทำงานร่วมกับผู้ผลิตเหล็กในประเทศรายอื่น ๆ และสมาคมการค้าต่างๆ ที่จะยื่นคำร้องต่อรัฐบาลในการออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน

"แม้เราจะประสบความสำเร็จที่ดีโดยทีมงานของเราในบางเรื่อง เช่น การบรรลุอัตราการใช้ PCI สูงสุดที่ 135 กิโลกรัมต่อตันของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก และยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Products:PVP) ร้อยละ 41 ของธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน แต่ตลาดโดยรวมชะลอตัวลง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันธุรกิจให้มี EBITDA หลักติดลบ...นอกจากนี้เราได้ดำเนินการอย่างระมัดระวังโดยการตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าของสินค้าคงเหลือและตั้งสำรองจากภาระผูกพันตามสัญญาการซื้อวัตถุดิบอีก 378 ล้านบาทเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดปัจจุบัน"นายวิน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ