(เพิ่มเติม) PTTGC เลือกทำเลตั้งปิโตรฯ คอมเพล็กซ์ในรัฐโอไฮโอของสหรัฐเริ่มผลิตปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 15, 2015 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรเพื่อสร้างปิโตรคอมเพล็กซ์ที่ใช้วัตถุดิบก๊าซอีเทนจาก Shale Gas ซึ่งมีปริมาณสำรองที่สูงและมีต้นทุนที่ต่ำ โดยบริษัทเลือกทำเลที่ตั้งโครงการแล้วที่มลรัฐโอไฮโอ บริเวณแหล่งมาร์เซลลัส ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่ง Shale Gas ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และเป็นภูมิภาคที่มี่ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีระดับสูง

ทั้งนี้โครงการนี้ถือเป็น World Scale ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่มีกำลังการผลิตเอทิลีน 1 ล้านตันต่อปี

สำหรับปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการ จะพิจารณาจากความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อผลตอบแทนทางการลงทุน นอกจากนี้ ยังมองถึงนโยบายสนับสนุนโครงการของมลรัฐ(State Government Incentives) ได้แก่ การสนับสนุนด้านภาษี เงินสนับสนุนจากภาครัฐ และยังมีปัจจัยด้านความพร้อมของแรงงานในบริเวณที่ตั้งโรงงาน รวมถึงความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ในแถบภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า โดยหากศึกษามูลค่าการลงทุนแล้วเสร็จ และตัดสินใจที่จะลงทุน บริษัทคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 63

นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยอีกว่า PTTGC ได้เพิ่มงบลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐเป็น 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่คาดราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการตั้งเผื่อไว้ แต่ยังเชื่อว่างบลงทุนมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้ หลังทิศทางราคาน้ำมันยังเคลื่อนไหวในระดับต่ำ นอกจากนั้น ล่าสุดยังได้มารูเบนีจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรแล้ว 1 ราย คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมทุน(joint venture)ได้ช่วงครึ่งหลังปีนี้

ด้านนายปฏิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี PTTGC กล่าวว่า โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ ซึ่งจะใช้ก๊าซอีเทนจาก shale gas เป็นวัตถุดิบนั้น ขณะนี้สามารถคัดเลือกมารูเบนีซึ่งเป็นเทรดดิ้งจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนได้แล้ว 1 ราย และอาจจะมีอีก 1 รายซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ขณะที่บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วนมากกว่า 51% โดยเบื้องต้นคาดว่าอาจจะมีการลงนามร่วมทุนได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้

"ตอนนี้เรากับมารูเบนีได้ศึกษาร่วมกันในเบื้องต้นแล้ว เราอยากจะมีพันธมิตรสัก 1-3 รายรวมเราด้วยเป็น 3 ราย อาจจะเซ็นสัญญาร่วมทุนได้ในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4...งบลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นการมองเผื่อไว้ แต่เราก็คาดว่าจริงๆน่าจะต่ำลงได้อีก เพราะราคาน้ำมันลง ราคา shale gas ก็ลดลงด้วย ราคาของผู้รับเหมาก็จะลดลงด้วย"นายปฏิภาณ กล่าว

อนึ่ง โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 1 ปี โดยมีการผลิตเอทิลีน 1 ล้านตัน/ปี และผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง HDPE ขนาด 7 แสนตัน/ปี, MEG และ EO ประมาณ 6 แสนตัน/ปี

ส่วนโครงการ PU-Project ซึ่งเป็นห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์โพลียูริเทนนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ซึ่งบริษัทมีแผนจะผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) ขนาด 2 แสนตัน/ปี มูลค่าลงทุนราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าในไตรมาส 3/58 จะสรุปพันธมิตรร่วมทุนได้ และตัดสินใจลงทุนได้ในสิ้นปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการและผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/62 โดยบริษัทจะถือหุ้นราว 50%

ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ในอินโดนีเซียนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน หลังจากเปอร์ตามิน่า ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนได้คัดเลือกซาอุดิอารามโก้มาเป็นพันธมิตรเพื่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ทำให้ต้องใช้เวลาศึกษาการออกแบบภาพรวมของคอมเพล็กซ์ทั้งโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีใหม่ แต่การที่จะมีโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะมีวัตถุดิบมากขึ้นมาป้อนโรงงานปิโตรเคมีในอนาคต เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 65

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ศึกษาที่จะขยายกำลังการผลิต LLDPE อีก 3 แสนตัน/ปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4 แสนตัน/ปี เพื่อรองรับการผลิต LLDPE เกรดพิเศษมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ คาดว่าจะตัดสินใจได้ในช่วงไตรมาส 3/58 และจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 61

*กำไร Q2 ดีกว่า Q1

นายปฏิภาณ กล่าวถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/58 โดยคาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 2/58 จะดีกว่าไตรมาสแรกที่มีกำไร 5,631 ล้านบาท หลังราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่กว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งหากราคาน้ำมันยืนอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องก็จะทำให้พลิกมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน อย่างไรก็ตามในด้านส่วนต่างผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ อาจจะอ่อนตัวลงบ้างจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ขณะที่คาดว่าทั้งปีนี้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และในปีหน้าอยู่ที่ราว 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์หลักอย่าง HDPE ล่าสุดอยู่ในระดับราว 1,400 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ความต้องการใช้เติบโตปีละ 4% ท่ามกลางปริมาณการผลิตใหม่ที่มีเข้ามาไม่มากนัก ทำให้ส่วนต่าง(สเปรด)ผลิตภัณฑ์ HPDE กับวัตถุดิบแนฟทา ยังอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดอยู่ที่ราว 800 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าไตรมาสแรก และคาดว่าสเปรด HDPE เฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ราว 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 682 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีที่แล้ว

ขณะที่การผลิตโอเลฟินส์ ในไตรมาส 2/58 คาดว่าจะมีการลังการผลิตในระดับ90% จากระดับ 96% ในไตรมาสแรก หลังโรงโอเลฟินส์ 1 โรงหยุดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 10 วันในช่วงต้นไตรมาส 2 ซึ่งปัจจุบันได้กลับมาเดินเครื่องผลิตตามปกติแล้ว

ด้านธุรกิจอะโรเมติกส์ คาดว่าจะมีสเปรดผลิตภัณฑ์ในระดับทรงตัว หลังบางโรงงานในตลาดโลกประสบปัญหาและหยุดผลิตไป ขณะที่ปริมาณการผลิตอะโรเมติกส์ในตลาดยังคงมีสูงกว่าความต้องการใช้ ส่วนนโยบายรัฐบาลที่ให้ลดปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปลงเหลือระดับ 1% จากเดิม 6% ของปริมาณการใช้นั้น ก็เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความผันผวนจากราคาน้ำมันได้ โดยเฉพาะในส่วนของการเก็บสต็อกน้ำมัน

"ส่วนต่างราคาน้ำมันใสเทียบกับน้ำมันดิบ อาจจะอ่อนตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก เล็กน้อยตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นอ่อนตัว แต่ธุรกิจโรงกลั่นไม่ใช่กำลังหลักของบริษัท"นายปฎิภาณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ