นอกจากนี้บริษัทได้ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะร่วมกับพันธมิตรอีก 2 ราย คือ บริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด และบริษัท ลาวี เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในการดำเนินโครงการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 4 โครงการ ใน 3 จังหวัด ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 40 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนรวม 8.3 พันล้านบาท โดยใช้กระแสเงินสดของบริษัทราว 2.4 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินในลักษณะเงินกู้โครงการ(project finance) โดยคาดว่าจะได้สัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ทั้งหมดในปีนี้ โดยสัญญาแรก ที่มีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ จะขายไฟฟ้าจำนวน 8 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะได้รับในช่วงเดือนก.ค.นี้
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทปีละ 500 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยจำหน่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 60 ถึงต้นปี 61 ทำให้บริษัทคาดว่าในช่วงปี 61 สัดส่วนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มเป็นมากกว่า 50% จากปัจจุบันบริษัทมีเพียงสัดส่วนรายได้จากการผลิตเบาะหนังให้กับค่ายรถยนต์ อีกทั้งบริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส ในประเทศญี่ปุ่น แต่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้
นายวีระพล กล่าวว่า บริษัทได้ศึกษาเรื่องธุรกิจพลังงานอย่างจริงจังมาระยะหนึ่งแล้ว และประเมินว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะใช้พลังงานทดแทนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย กำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปลายปีนี้ อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้า