เครือเนชั่น ยื่นฟ้องศาลปกครองเพิกถอนมติกสท. กรณี NEWS ถือหุ้น NMG

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 19, 2015 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

3 บริษัทเครือเนชั่น NMG-NBC-NNV ยื่นฟ้องศาลปกครอง เอาผิดกสท.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โดยรับรองมติ 3:2 กรณี SLC ถือหุ้น NMG 12.27% ชี้ผิดหลักเกฎฑ์ประมูลทีวีดิจิตัล, ขัดม.31 พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เปิดช่องสู่การครอบงำสื่อ ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ร้องให้ศาลสั่งเพิกถอนมติกสท.วันที่ 23, 30 มี.ค.2558 กรณีการเข้าถือหุ้น NMG ของ SLC

เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) ได้เป็นตัวแทนผู้บริหารเครือเนชั่น จาก 3 บริษัท ซึ่งประกอบด้วย บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG), NBC และบริษัท เอ็นบีบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด (NNV) พร้อมด้วยทนายความ เดินทางไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง เอาผิดการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ที่รับรองมติ 3:2 ระบุว่าการเข้ามาซื้อหุ้นเนชั่น ของบมจ.โซลูชั่นคอนเนอร์ (1998) (SLC) หรือบมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น(NEWS) ในปัจจุบันนั้น ไม่ขัดหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัล ที่ว่าด้วยสัดส่วนการถือหุ้นในสื่อประเภทเดียวกัน เกิน 10%

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มีความเห็นมาแล้วว่าต้องใช้หลักเกณฑ์การประมูลไปจนสิ้นสุดสัญญา มตินี้จึงเท่ากับผิดหลักเกณฑ์ข้อกฎหมาย

โดยเครือเนชั่นได้เรียกร้องให้ ศาลปกครองพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ขอให้ศาลเพิกถอนมติกสท.ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2558 วันที่ 23 มีนาคม 2558, ประเด็นที่ 2.ขอให้ศาลเพิกถอนมติกสท.ในคราวประชุม ครั้งที่ 12/2558 วันที่ 30 มีนาคม 2558 วาระที่ 4.2.9 ข้อ 5. ในส่วนที่ให้ถือการงดออกเสียง ของกสท. 2 คน ซึ่งทำให้มีผลเท่ากับไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของสำนักงานกสทช.

และประเด็นที่ 3.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กสท.ดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองไปยังสปริงนิวส์ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตให้ SLC และกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ปรับลดสัดส่วนการถือหุ้น NMG เพื่อมิให้มีความสัมพันธ์ในลักษณะการเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ให้เกิดการแทรกแซง หรือครอบงำกิจการ ระหว่างผู้รับใบอนุญาตและผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันตามกฎหมาย หากสปริงนิวส์ในฐานะผู้รับใบอนุญาต SLC และกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่เกี่ยวข้องอื่นไม่ดำเนินการตามคำสั่ง กสท.ต้องดำเนินการลงโทษทางปกครอง หรือเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

คำฟ้องดังกลาว อ้างอิงถึงผลประชุมกสท. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 กสท.ได้ประชุมครั้งที่ 12/2558 เพื่อมีมติรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 11/2558 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 ปรากฏว่า คณะกรรมการกสท. 3 คน ได้มีมติรับรองรายงานการประชุม ให้การงดออกเสียงของกสท.2 คน มีผลเท่ากับว่าไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของสำนักงานกสทช. หรือนับรวมกับเสียงที่ว่า การที่ SLC เข้าถือหุ้น NMG 12.27%ไม่ผิด เมื่อนำมารวมกับการออกเสียงไม่เห็นด้วยของพลโทดร.พีระพงษ์ มานะกิจ จึงทำให้ กสท.มีมติเป็น 3: 2 ระบุว่า การถือหุ้นดังกล่าวไม่ผิดหลักเกฎฑ์การประมูลทีวีดิจิทัล

ดังนั้น กสท.จึงไม่มีคำสั่งทางปกครอง ไปยัง SLC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ช่องข่าวสปริงนิวส์ ให้ปรับลดสัดส่วนการถือครองหุ้น เพื่อแก้ไขมิให้มีความสัมพันธ์ ในลักษณะการเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันของผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิล ตามหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัล โดยไม่ออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย

มติดังกล่าว ถือเป็นการกระทำทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเมิดทำให้เกิดความเสียหายแก่ทั้ง 3 บริษัทเครือเนชั่น เนื่องจาก NMG ซึ่งเป็นบริษัทแม่นั้นถือหุ้นใหญ่อยู่ใน NBC และ NBC ถือหุ้นใหญ่ใน NNV ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาติทีวีดิจิทัลชองข่าว เนชั่นทีวี ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับ ช่องข่าวสปริงนิวส์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย SLC การเข้ามาถือหุ้น NMG ถึง 12.27% จึงเกินหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัล ที่ระบุให้ถือหุ้นในช่องประเภทเดียวกันได้ไม่เกิน 10%

เครือเนชั่น เห็นว่า มติกสท.ครั้งนี้ ขัดต่อ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ข้อ 7. กำหนดว่า “คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูล..7.2 เงื่อนไขการเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน และขัดมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เพราะประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัลฯ นั้นออกโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เพื่อกำหนดสัดส่วนการกระทำที่เป็นการครอบงำกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่มีผลบังคับตามกฎหมาย ที่ต้องใช้บังคับกับผู้รับใบอนุญาตภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว

นอกจากนี้ ผลของมติดังกล่าว ยังขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 47 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า “การประกอบกิจการตามวรรคสอง ต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำระหว่างสื่อสารมวลชนด้วยกันเอง หรือโดยบุคคลอื่นใด ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ