ความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด ขนาด 2,640 เมกะวัตต์ จะเป็นการร่วมทุน 4 ฝ่าย ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOA) กับประเทศเมียนมาร์ในราวเดือนมิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการทั้งในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การหาแหล่งเงินลงทุน และอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการราว 1 ปีครึ่ง
นอกจากนี้ ยังมีโครงการคลังก๊าซแอลเอ็นจีในประเทศเมียนมาร์ที่เจรจาเข้าร่วมทุนกับกลุ่ม ปตท. บริษัทคาดว่าจะเข้าถือหุ้นราว 20-30% ร่วมกับกลุ่มบมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งคาดว่าจะลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น(MOU) กับปตท.ไม่เกินกลางเดือนมิ.ย.นี้ โดยการลงนาม MOU กับปตท.ดังกล่าว จะเป็นการลงนามร่วมกัน 3 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นเรื่องการร่วมทุนทำคลัง LNG และฉบับที่ 2 เป็นการลงนามร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในเวียดนาม โดยมีเป้าหมายจะถือหุ้น 30% และฉบับที่ 3 เป็นการลงนามร่วมกันศึกษาหาโอกาสการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย
สำหรับการศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ปัจจุบันมี 2 โครงการ นอกเหนือจากโครงการที่ร่วมกับปตท.แล้ว ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ซึ่งจะร่วมทุนกับกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
ส่วนโครงการลงทุนในอินโดนีเซียนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ใน 4 โครงการ โดยโครงการแรก เป็นการร่วมกับบมจ.บ้านปู(BANPU) เข้ายื่นเสนอทำโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,000 เมกะวัตต์ ในโครงการจาวา 7 และในอนาคตอาจจะดึงพันธมิตรญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วย ส่วน 3 โครงการที่เหลือ บริษัทอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์(due diligence) การเข้าไปซื้อหุ้น 40-49% ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน sumsel 5 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนมิ.ย.นี้
นอกจากนี้ยังศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,000 เมกะวัตต์ในจีน ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับกลุ่ม CGN และศึกษาความเหมาะสมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นเพิ่มเติม โดยจะเป็นการร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศรายใหม่ จากปัจจุบันที่มีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นแล้ว 2 โครงการที่ร่วมกับกลุ่มบมจ.เชาว์ สตีลอินเตอร์เนชั่น(CHOW) ขณะเดียวกันยังได้ศึกษาความเหมาะสมการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ ร่วมกับกลุ่ม CHOW โดยจะเป็นโครงการพลังงานลม 50 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 100 เมกะวัตต์
"บริษัทฯ เชื่อมั่นในกลยุทธ์สร้างการเติบโตด้วยการผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ๆ และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนสูงได้มากขึ้นด้วย" นายพงษ์ดิษฐ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้แสวงหาโอกาสผสานความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทในเครือของ กฟผ. โดยมีเป้าหมาย คือ สนับสนุนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไทย และช่วยตรึงราคาค่าไฟฟ้าให้อยู่ในอัตราที่ต่ำ รวมทั้งสร้างมูลค่ากิจการเพื่อความมั่นคงระยะยาวของบริษัทฯ แนวทางนี้สอดรับกับนโยบายของ กฟผ. ที่ต้องการประสานประโยชน์ระหว่างบริษัทในเครือในการดำเนินธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหงสาเพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนดการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ซึ่งโครงการนี้ช่วยเพิ่มมูลค่ากิจการถึง 42,233 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของมูลค่ากิจการรวมปัจจุบัน (124,214 ล้านบาท) และสร้างรายได้ให้บริษัทฯ ประมาณปีละ 2,300 ล้านบาท
นายพงษ์ดิษฐ คาดว่า ปีนี้จะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ในลาว ราว 900 ล้านบาท หลังโครงการจะเริ่มเดินเครื่องยูนิต 1 และ 2 ในปีนี้
โครงการโรงไฟฟ้าหงสา ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 40% นั้น จะเริ่มเดินเครื่องผลิตยูนิต 1 ในวันที่ 2 มิ.ย. และยูนิต 2 ในวันที่ 2 พ.ย.นี้ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้บริษัทในปีนี้ 2,300 ล้านบาท และจะสร้างส่วนแบ่งกำไรให้กับบริษัทตามสัดส่วนร่วมทุนในปีนี้ราว 900 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกำไรสุทธิในปีนี้ ขณะที่ในปีหน้าเมื่อโรงไฟฟ้าหงสาเดินเครื่องครบทั้งหมดก็จะช่วยหนุนผลประกอบการปี 59 ให้ดีกว่าปี 58 ด้วย
โครงการโรงไฟฟ้าหงสา จะช่วยเพิ่มมูลค่ากิจการถึง 42,233 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของมูลค่ากิจการรวมปัจจุบัน โดยโครงการมีกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 3 ยูนิต ยูนิตละ 626 เมกะวัตต์ โดยยูนิตที่ 3 จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในวันที่ 2 มี.ค.59 ซี่งจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทตามสัดส่วนร่วมทุนราว 9 พันล้านบาท/ปี ขณะที่ไฟฟ้าทั้งหมดจะส่งขายกลับมาไทยรวม 1,473 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เร่งศึกษาและเจรจาร่วมทุนโครงการด้านพลังงานขนาดใหญ่ในประเทศเมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยบางโครงการจะมีความชัดเจนในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ อีกทั้งโครงการพลังงานทดแทนในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ กับพันธมิตรธุรกิจรายเดิมและรายใหม่ เพื่อขับเคลื่อนมูลค่าองค์กรให้เติบโตบรรลุเป้าหมาย
พร้อมเตรียมปรับแผนกลยุทธ์ระยะยาวหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้าในอนาคต รองรับการขยายงานหลังโรงไฟฟ้าเก่าของบริษัทจะทยอยหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใน 5-10 ปีข้างหน้า และโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศค่อนข้างจำกัด
ปัจจจุบันบริษัทมีมูลค่ากิจการรวม 124,214 ล้านบาท และมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 133,000 ล้านบาทในสิ้นปี ก่อนจะเพิ่มเป็น 282,000 ล้านบาทในอนาคต เพื่อให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นไปตามแผน
นายพงษ์ดิษฐ กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนกลยุทธ์ของบริษัทใหม่ โดยจะมองหาโอกาสการลงทุนใหม่นอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการใน 1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการทำธุรกิจ หลังโอกาสทางธุรกิจในกิจการไฟฟ้าปัจจุบันมีค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมองไม่เห็นโอกาสในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่(IPP) หรือรายเล็ก(SPP) รอบใหม่ ยกเว้นเพียงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น ท่ามกลางโรงไฟฟ้าของบริษัทที่จะทยอยหมดอายุสัญญาขายไฟฟ้าลง โดยโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์ยี่ ขนาด 700 เมกะวัตต์จะหมดสัญญาใน 5 ปีข้างหน้า และโรงไฟฟ้าราชบุรี รวม 1,400 เมกะวัตต์ จะหมดสัญญาในอีก 10 ปี ขณะที่โอกาสการลงทุนในต่างประเทศ ยังมีการแข่งขันสูง
ส่วนตัวเห็นว่าธุรกิจที่มีความน่าสนใจจะเข้าไปดำเนินการ เช่น ธุรกิจด้านงานวิศวกรรมต่างๆ ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งล่าสุดได้มีการเจรจากับทางบมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) อย่างไม่เป็นทางการถึงความสนใจที่จะร่วมทำธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
"ฝ่ายบริหารทบทวนใหม่ว่าน่าจะมีการเพิ่มยุทธศาสตร์การแสวงหาการเติบโตในธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่กิจการไฟฟ้า กลยุทธ์นี้จำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากร เปลี่ยนได้หรือไม่เป็นก้าวสำคัญ ซึ่งเราต้องเปลี่ยนผ่านให้ได้...ยุทธศาสตร์ใหม่เป็นความท้าทาย ต้องใช้เวลา ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดในช่วง 1-2 เดือนนี้"นายพงษ์ดิษฐ กล่าว