RATCH เล็งเพิ่มผลิตไฟฟ้าโครงการหงสาหลังมีสำรองถ่านหินมาก,คาดสรุป 3 เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday May 24, 2015 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการเพิ่มกำลังการผลิตของโครงการโรงไฟฟ้าหงสาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) จากปัจจุบันที่โครงการมีกำลังการผลิต 3 ยูนิต รวม 1,878 เมกะวัตต์(MW) หลังมองว่ายังมีปริมาณสำรองถ่านหินจำนวนมาก แต่ยังต้องศึกษาขีดความสามารถของระบบสายส่งด้วย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสรุปผลได้ในช่วง 3 เดือนก่อนจะนำเสนอต่อรัฐบาลลาวเพื่อพิจารณาต่อไป

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าหงสาเตรียมจะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับยูนิต 1 ขนาด 626 เมกะวัตต์ในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ และเดินเครื่องผลิตยูนิต 2 ในเดือน พ.ย.58 ส่วนยูนิต 3 จะเริ่มเดินเครื่องผลิตในเดือน มี.ค.59

"เรากำลังพูดคุยว่าจะเพิ่มโครงการใหม่ขึ้นมา ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน อยู่ในประเด็นที่ฝ่ายบริหารกำลังพูดคุยกัน...ปริมาณถ่านหินตลอดอายุสัมปทานมีเพียงพอต่อการผลิต เราอาจจะเพิ่มยูนิตได้อีกจากการเปิดหน้าเหมืองลงทุนเพิ่มอีกหน่อย แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องสายส่งด้วยว่าจะรับได้อีกเท่าไหร่ ต้องตรวจสอบทั้งสองส่วนว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตได้เท่าไหร่ ประมาณ 3 เดือนก็น่าจะได้คำตอบเบื้องต้นหลังจากนั้นก็จะนำเสนอต่อรัฐบาลลาวพิจารณา และเจรจาขายไฟกลับมาไทย" นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหงสาดำเนินการโดยบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ซึ่งมี RATCH ถือหุ้น 40%, กลุ่ม บมจ.บ้านปู (BANPU) ถือหุ้น 40% และรัฐวิสาหกิจ สปป.ลาวถือหุ้น 20% โครงการนี้มีมูลค่าลงทุน 3,710 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งอยู่ในเมืองหงสา แขวงไซยะบุลี สปป.ลาว เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง โดยได้รับสัมปทานเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่เดียวกัน มีอายุสัมปทาน 25 ปี ขณะที่โรงไฟฟ้ามีกำลังการผลิตติดตั้ง 3 ยูนิต ยูนิตละ 626 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ ซึ่งจะขายไฟฟ้ากลับมาไทย 1,473 เมกะวัตต์ และขายให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 100 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าหงสา

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวว่า เหมืองถ่านหินลิกไนต์มีปริมาณสำรอง 577.4 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าราว 14.3 ล้านตัน/ปี คิดเป็นปริมาณถ่านหินที่ต้องการใช้ตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้า 25 ปี ประมาณ 370.8 ล้านตัน ทำให้ยังคงมีปริมาณถ่านหินสำรองคงเหลือเพียงพอที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้อีก แต่ก็ยังต้องพิจารณาเรื่องสายส่งไฟฟ้าในปัจจุบันที่มีการลงทุนขนาด 500 KV จากโครงการไปยังชายแดนไทย-สปป.ลาว รวมถึงสายส่งขนาด 115 KV จากโครงการไปยังหลวงพระบางนั้นจะมีเพียงพอรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ด้วย

ทั้งนี้หากเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ก็คาดว่าจะดำเนินการได้เร็วกว่าเดิม โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี เนื่องจากมีสาธารณูปโภครองรับอยู่แล้ว

สำหรับการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหงสานั้น ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วราว 97% โดยปริมาณไฟฟ้าที่ได้ส่วนใหญ่จะขายกลับมายังไทยนั้น จะช่วยเสริมความมั่นคงให้กับระบบการผลิตไฟฟ้าของไทย อีกทั้งราคาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ราว 2.30 บาท/หน่วยนั้นจะช่วยทำให้อัตราค่าไฟฟ้ารวมเฉลี่ยของไทยไม่มากนัก และจะช่วยหนุนเศรษฐกิจของลาวด้วย ขณะที่ในส่วนของการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และความปลอดภัย ของธนาคารโลก ตลอดจนดูแลคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในรอบพื้นที่ด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ สิทธินามสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด กล่าวว่า ปริมาณสำรองถ่านหินที่เหลือจากการใช้ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า 25 ปีนั้น คาดว่าจะสามารถรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ได้ 900 เมกะวัตต์ ขณะที่ถ่านหินที่ได้จากเหมืองมีค่าความร้อนเฉลี่ย 2,492 กิโลแครอรี่/กิโลกรัม และมีปริมาณซัลเฟอร์ 0.7% ต่ำกว่าเหมืองถ่านหินแม่เมาะในไทยที่มีปริมาณซัลเฟอร์เฉลี่ย 2.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ