บลจ.กรุงไทย เปิดขายกองตราสารหนี้ใน-ตปท.6 เดือนช่วง 27 พ.ค.-2 มิ.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 26, 2015 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ เอ็นแฮนซ์ 14(KTFFE 14)เสนอขาย วันที่ 27 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 58 อายุโครงการ 6 เดือน เน้นลงทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ประเภทเงินฝากประจำ Bank of China, เงินฝากประจำ Turkiye Garanti Bankasi AS, MTN ออกโดย Akbank T.A.S, MTN ออกโดย Banco ABC (Brasil) และ MTN ออกโดย Banco BTG Pactual S.A.ในสัดส่วน 90% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ประเภทตั๋วแลกเงิน บมจ.บัตรกรุงไทย ผลตอบแทนประมาณ 2.10% ต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายรอบใหม่(Roll Over)กองทุนเปิดกรุงไทยประจำ 3 เดือน คุ้มครองเงินต้น 3(KTFIX3M3) เสนอขายถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 58 อายุโครงการ 3 เดือน เน้นลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ประกอบด้วย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ในสัดส่วน57%ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝาก / บัตรเงินฝากธนาคารออมสิน ธนาคารทิสโก้ และธนาคารไอซีบีซี(ไทย) จำกัด ผลตอบแทนประมาณ 1.25% ต่อปี

สำหรับอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุตามแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ หลังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ว่ามีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในอนาคตหากเห็นว่าจำเป็น โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือ 4 ปี จะปรับตัวลดลงมากกว่าช่วงอายุอื่นตามความต้องการลดความเสี่ยงโดยการพักเงินในตราสารระยะสั้น-กลาง โดยนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นยอดซื้อสุทธิจำนวน 856 ล้านบาท ปัจจัยที่ต้องจับตามองได้แก่ แรงซื้อขายจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงอายุตามแรงขาย ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฝั่งยูโรโซนในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังประธาน Fed ได้คาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้หากเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มตามที่คาดการณ์ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9 bps. มาอยู่ที่ 0.64% ต่อปี อายุ 5 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้น 11 bps. มาอยู่ที่ 1.57% ต่อปี และอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 bps. มาอยู่ที่ 2.21% ต่อปี สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตามองได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และช่วงเวลาที่ชัดเจนสำหรับการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ