"โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ที่เน้นการเติบโตแบบ Big Win ของเรา คือเน้นเติบโตในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเติบโตอย่างความมั่นคง โดยเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความสามารถและประสบการณ์ เพื่อให้เป็นโครงการที่สมบูรณ์ ได้พิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบด้าน ด้วยความพร้อมของกลุ่มพันธมิตร ทำให้สามารถเดินหน้าโครงการได้ทันทีเมื่อได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองประเทศ และตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2566 เป็นต้นไป"นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานไฟฟ้าเมียนมาร์ ยังได้มอบหมายให้กลุ่มพันธมิตรของ GPSC ศึกษาความเป็นไปได้โครงการลงทุนในโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า เพื่อนำไฟฟ้าจากไทยไปจำหน่ายให้กับเมืองมะริดและบริเวณใกล้เคียง ประมาณ 100 เมกะวัตต์ เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้า ในระหว่างที่การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าระหว่างชายแดนของสองประเทศ
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด ดังกล่าวเป็นไปตามแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอาเซียน โดยล่าสุดกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงานไทย เพื่อขอการสนับสนุน เรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดในรัฐทะนินทะยี ของกลุ่มพันธมิตรซึ่งนำโดย GPSC
ดังนั้นเมื่อเร็วๆนี้ นายวิเศษ จูงวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ 1 ของ GPSC พร้อมด้วย คัตซูมิ มิยาโมโตะ General Manager, Overseas Power Project Dep-II บริษัท Marubeni Corporation นายธนา พุฒรังษี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟฝ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นายประมวลชัย ทวีเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ เอสอาร์ไอ ซินเนอร์ยี่ จำกัด และนาย เย มิน อ่อง Managing Director บริษัท Ayeyar Hinthar Holdings เข้าเยี่ยมคารวะรมว.พลังงาน เพื่อแนะนำตัวและขอรับคำชี้แนะและการสนับสนุน การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดในมะริด โดยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการฯ จะจำหน่ายให้กับทั้งประเทศไทยและเมียนมาร์ เพื่อกระชับความร่วมมือในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจของสองประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล