นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้พิจารณาเรื่อง มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพิ่มเติม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของประเทศในอนาคต
ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการเพิ่มมาตรการสำคัญ 2 เรื่อง ประกอบด้วย มาตรการลดต้นทุนการผลิต และมาตรการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยในปัจจุบัน มีเพียงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคล 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เพราะต้นทุนการผลิตพลาสติกชีวภาพในไทยสูงกว่าต้นทุนการผลิตในประเทศคู่แข่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยในส่วนของมาตรการลดต้นทุนการผลิต ที่ประชุมจะมอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเรื่องการลดค่าไฟและก๊าซธรรมชาติ
ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุน ให้บีโอไอลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 90% เป็นเวลา 3 ปี หรือจนกว่าจะมีผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ ปัจจุบัน ความต้องการพลาสติกชีวภาพในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่า 50% ต่อปี และคาดว่าภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้จะยิ่งสูงขึ้นมาก เนื่องจากนานาประเทศและผู้บริโภคให้การยอมรับและเลือกใช้พลาสติกชีวภาพเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งผลิตพลาสติกชีวภาพของโลกได้ และพลาสติกชีวภาพจะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของประเทศในอนาคตได้
สำหรับพลาสติกชีวภาพ(Bio-plastics) เป็นพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรจากธรรมชาติที่สามารถปลูกขึ้นทดแทนได้ (Renewable resources) เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด น้ำตาล และสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และในการผลิตยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้น การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลาสติกชีวภาพ จะส่งผลดีต่อประเทศในหลายด้าน อาทิ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการย่อยสลาย ช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้พลาสติกชีวภาพเป็นวัตถุดิบ ๆได้แก่ การผลิตบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ รวมทั้งช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
อนึ่ง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) มีแผนจะสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ เพื่อผลิต PLA ในไทย ซึ่งนับเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ของกลุ่มบริษัท จากปัจจุบันที่มีโรงงาน PLA แห่งแรกในสหรัฐ จากการที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนในบริษัท NatureWorks โดยแผนการสร้างโรงงานดังกล่าวมีความล่าช้า เนื่องจากรอการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างชัดเจน ทั้งในด้านของพื้นที่ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ซึ่งล่าสุดได้จัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจสีเขียวที่ครบวงจร (Bio-Hub) ซึ่งจะเป็นการดำเนินธุรกิจจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ที่ใช้วัตถุดิบจากการเกษตรมาผลิต โดยนำเสนอโมเดลการลงทุน Bio-Hub โดยใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) ในอนาคต ไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง