นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงยังได้พบปะพูดคุยเจรจาทางธุรกิจกับบริษัท เปโตรนาส และบริษัท เอ็นจี้ ในการตกลงซื้อขาย LNG ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันทั้งสองบริษัทมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีต่อกันกับกลุ่มปตท. โดยเปโตรนาส มีบริษัทลูกที่ร่วมทุนในโครงการเจดีเอ และบริษัท เอ็นจี้ ก็ถือหุ้น 40% ในบริษัท พีทีทีเอ็นจีดี ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท.
รวมถึงกลุ่มปตท.ยังได้แสวงหาพันธมิตรอื่นๆที่อาจจะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งด้านเชื้อเพลิง LNG โดยการจัดหาแหล่ง LNG ระยะสั้น ซึ่งเป็นการซื้อขายในตลาด spot จากแหล่งต่างๆ โดยในงานครั้งนี้ ปตท.ก็จะมีโอกาสเจรจาทางธุรกิจร่วมกับบริษัท โททาล และบริษัท เชลล์ อีกด้วย
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัจจุบันปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การจัดหาแหล่งก๊าซฯใหม่ๆ ในประเทศนั้นทำได้ยากขึ้น ดังนั้น เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น รวมถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ซึ่งหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) มากขึ้น ปตท.จึงต้องเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอเพื่อให้มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่สะดุดจากภาวะขาดแคลนพลังงานภายใต้สถานการณ์ที่ประเด็นสัมปทานปิโตรเลียมและแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ล้วนยังไม่มีความชัดเจน
การนำเข้า LNG จึงมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว โดยปตท. ได้นำเข้า LNG ตั้งแต่ ปี 54 เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ปริมาณสำรองของแหล่งก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
จากการคาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยในปีนี้ จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และประมาณการณ์ว่าจะมีอัตราเติบโตของการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยปีละประมาณ 3-4% ขณะที่การจัดหาก๊าซฯ ปัจจุบันประกอบด้วยการจัดหาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการนำเข้าจากสหภาพพม่า โดยในปีที่ผ่านมา จัดหาก๊าซธรรมชาติรวม 4,691 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศ 3,657 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และการนำเข้า 1,034 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วนการจัดหาจากแหล่งในประเทศและต่างประเทศ 78:22
อนึ่ง การประชุม World Gas Conference 2015 มีขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 มิ.ย. ณ กรุงปรารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นงานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติระดับสากล ซึ่งจัดโดยสมาพันธ์ก๊าซระหว่างประเทศ (International Gas Union:IGU) ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยการประชุมครั้งนี้ มีบริษัทผู้นำด้านพลังงานกว่า 600 บริษัท ใน 100 ประเทศเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกิจอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติบนพื้นที่จัดแสดงกว่า 45,000 ตารางเมตร
ขณะที่ในส่วนของปตท. นอกจากจะเข้าร่วมประชุมวิชาการแล้ว ยังได้จัดแสดงบูธนิทรรศการเพื่อแสดงนวัตกรรมของกลุ่มปตท. ภายใต้แนวคิด"นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของธุรกิจก๊าซสู่ยุคสมัยของความยั่งยืน" เพื่อแสดงถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่สามารถลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยจะนำเสนอนวัตกรรมด้านธุรกิจก๊าซฯสู่สายตาชาวโลก เช่น อุปกรณ์ควบคุมเชื้อเพลิงร่วมดีเซลและก๊าซธรรมชาติ ,การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือทิ้งมาทำเป็นพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม และการนำองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการระบบท่อส่งก๊าซฯมารับจ้างบริหาร หรือให้บริการครบวงจร เป็นต้น