"ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติไฟลิ่งจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งนับหนึ่งไฟลิ่งแล้วตั้งแต่เดือน พ.ค.และบริษัทอยู่ระหว่างการทำ Bookbuiding ราคาขายของกองทุน หลังจากที่ได้โรดโชว์เสร็จไปเมื่อสัปดาห์ก่อน"นายวิบูลย์ กล่าว
กองทุนดังกล่าวจะลงทุนในกรรมสิทธิ์และสิทธิการเช่า 30 ปีในอาคารโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ มูลค่าสินทรัพย์ราว 4,750 ล้านบาท ในพื้นที่ปัจจุบัน 150 ไร่ คิดเป็น 1.6 แสน ตร.ม. และคาดอีก 2-3 ปี จะเพิ่มขนาดกองทุนให้มีสินทรัพย์ครบ 200-300 ไร่ โดยล็อกพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะไว้แล้ว ทั้งอมตะนครและอมตะซิตี้ มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ในช่วงที่ผ่านมาจากการเดินสายโรดโชว์เพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุนสถาบัน กองทุน บริษัทประกันชีวิต กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม รวมทั้งลูกค้ากลุ่มเวลธ์ ได้ผลตอบรับดีมาก มีผู้สนใจเข้าซื้อหน่วยลงทุนจำนวนมาก เพราะเห็นข้อดีของการลงทุน คือ กองทุนนี้ให้โอกาสได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ จากนโยบายจ่ายปันผลให้ผู้ถือหน่วยในอัตราไม่ต่ำกว่า 90% ของกำไรสุทธิ และปันผลปีละ 4 ครั้ง หรือทุกไตรมาส ประมาณการผลตอบแทนที่ 8.70%
นอกจากนั้น ทำเลที่ตั้งยังน่าสนใจ ซึ่งนอกจากจะนำโรงงานให้เช่าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะขายเป็นสินทรัพย์ของกองทุนนี้แล้ว ในอนาคตมีโอกาสที่จะนำสินทรัพย์ในต่างประเทศขายเข้ากองทุน มองเป็นโอกาสโดยเฉพาะในเวียดนาม รวมทั้ง กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กลุ่มซัมมิท มีภาพลักษณ์ที่ดี
นายสันติ พัฒนะเมลือง กรรมการ บริษัท อมตะซัมมิทเรดดี้บิวท์ จำกัด และผู้บริหารกลุ่มซัมมิท กล่าวว่า การเสนอขายกองทุนช่วงนี้หลายคนมองว่าเป็นจังหวะที่ดีช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน เพราะลงทุนในกองทุนนี้ค่อนข้างมั่นคง เก็บผลประโยชน์ยาวเป็นรายได้สม่ำเสมอ ผลตอบแทนไม่น่าจะต่ำกว่า 8.7% การขายหน่วยลงทุนช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีผลต่อผลตอบแทน เพราะนโยบายจ่ายปันผลชัดเจนอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิ
ทั้งนี้ ในพื้นที่ 150 ไร่ปัจจุบันมีโรงงาน 88 แห่ง อัตราการเช่า 97% ซึ่งที่ผ่านมาโรงงานให้เช่าขยายตัวปีละ 20% ทุกปี ลูกค้าที่เช่ากระจายไปทั้งกลุ่มยานยนต์ พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ขณะที่สัญญาเช่า 3 ปี จะสามารถปรับขึ้นค่าเช่าได้ทุกๆ 3 ปี เฉลี่ยปีละ 3-4%
"ตอนนี้มี 150 ไร่ ถ้าพื้นที่ 200-300 ไร่เสร็จเราก็จะโตอีกเท่าตัว ซึ่งโรงงานให้เช่าก็จะทำต่อตามดีมานด์ที่จะโตปีละ 20% ส่วนการสร้างคลังสินค้าตามความต้องการของลูกค้า (buit to suit) ปัจจุบันเจรจาอยู่ 2-3 ราย ที่ตกลงแล้ว 1 ราย พื้นที่ 4,000 ตร.ม. และอีก 2-3 ราย พื้นที่ 1 หมื่นตร.ม.ขึ้นไป ซึ่ง buit to suit ที่เข้ามาเป็นตัวเลขที่น่าสนใจไม่โอเวอร์เกินไป"นายสันติ กล่าว
ส่วนสินทรัพย์อื่นๆในนิคมฯที่มีอยู่แล้ว ยังตอบไม่ได้จะเอาสินทรัพย์ใดมาเข้ากองในอนาคต แต่ตอนนี้อยากให้โฟกัสที่โรงงานก่อน เงินที่ระดมมาจะลงทุนในสินทรัพย์นี้ ส่วนสินทรัพย์อื่นๆ ดูดีมานด์ เช่น คอมมูนิตี้มอลล์ บ้านพัก คอนโดมีเนียม คอมเมอร์เชียล