"ปิยสวัสดิ์"เผยบมจ.ปตท.(PTT) จะเสนอกระทรวงการคลังเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในแปลงสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช และให้เอกชนรายเดิมเป็นผู้ลงทุนสำรวจและผลิตในแปลงปิโตรเลียมต่อไปก่อนที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ย้ำเป็นผลดีต่อรัฐที่จะมีรายได้ทันทีโดยที่กำลังผลิตก๊าซธรรมชาติไม่ลดลงด้วย ด้านรมว.พลังงานยืนยันรัฐเข้าถือ 100% หลังหมดอายุสัมปทาน แต่จะเปิดทางให้เอกชนทั้งรายเดิมและรายใหม่ยื่นข้อเสนอในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเข้ามาด้วย
นายปิยสวัสดิ์ อัมมระนันทน์ ประธานกรรมการ PTT เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อปลายเดือน เม.ย.ได้ตกลงให้ ปตท.ยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อให้เอกชนรายเดิมเป็นผู้ลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงที่จะหมดอายุสัมปทานลงปี 65-66 ต่อไป แต่จะให้รัฐเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในแปลงสัมปทานดังกล่าวก่อนที่จะหมดอายุสัมปทานลง เพื่อจะช่วยรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมเดิมไม่ให้ลดลง โดยสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐจะเป็นเท่าใดนั้นขึ้นกับปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เหลืออยู่ ขณะเดียวกันภาครัฐก็จะมีรายได้เข้ามาทันทีก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ ภาครัฐไม่จำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาใหม่เพื่อเข้าถือหุ้นดังกล่าว แต่ควรให้กระทรวงการคลังเข้ามาถือหุ้นแทน โดยเห็นว่าภาครัฐต้องมีความชัดเจนเรื่องดังกล่าวภายในปีนี้ เพราะหากไม่มีความชัดเจนในปีนี้ ภาคเอกชนจะชะลอการลงทุนในช่วงที่เหลือของอายุสัมปทาน และจะทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยจะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะมีปริมาณผลิตจะลดลงเหลือเพียง 500 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟ.)/วัน จากปัจจุบันผลิตได้ 2,200 ล้านลบ.ฟุต/วัน และรัฐจะต้องใช้เงินลงทุนและใช้เวลานานกว่าที่จะดึงระดับการผลิตปิโตรเลียมให้กลับมาเพิ่มขึ้นภายหลังรัฐถือหุ้น 100% ในแปลงสัมปทานที่หมดอายุลง
"หากรัฐไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้โดยเร็วเชื่อว่าจะกระทบการผลิตปิโตรเลียม จะทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมากขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าไฟสูงขึ้น"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน กล่าวว่า รัฐจะเข้ามาถือหุ้น 100% ในแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานลง แต่ระหว่างนี้ก็จะเปิดโอกาสเอกชนทั้งรายเดิมและรายใหม่เสนอการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งที่จะหมดอายุ ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เข้าไปตรวจสอบทรัพย์สิน(due diligence) แหล่งดังกล่าวแล้ว คาดว่าในไตรมาส 4/58 น่าจะเริ่มเจรจาและได้ข้อสรุป หลังจากนั้นคงจะเซ็นสัญญาได้ในปีหน้า ส่วนข้อเสนอของ ปตท.นั้นยังไม่ทราบเรื่อง
อนึ่ง แหล่งก๊าซฯที่จะหมดอายุในเดือนมี.ค.65 มี 4 แปลงในแหล่งก๊าซฯเอราวัณ และใกล้เคียง ของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด และแหล่งก๊าซฯที่จะหมดอายุในเดือนมี.ค.65 และเม.ย.66 มี 3 แปลงในแหล่งก๊าซฯบงกช ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP)
เมื่อเดือนที่แล้วคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุ โดยให้คำนึงถึงการรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินการพัฒนาแหล่งก๊าซเพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติไม่ให้ลดต่ำลง ระบบการบริหารจัดการฯ จัดเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐ ให้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และเพิ่มสัดส่วนของรัฐในการถือครองแหล่งก๊าซ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการปิโตรเลียมรับไปพิจารณาดำเนินการในรายละเอียดให้ได้ข้อยุติ ภายใน 1 ปี