การปรับเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จในการเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทที่ทำได้ครบทุกโครงการในปี 2557 รวมถึงผลการดำเนินงานที่ดีกว่าที่คาดการณ์ และการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย
อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 36 โครงการจากการมีสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมถึงการได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่อัตรา 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงจากการที่บริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในการพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงประสบการณ์ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของคณะผู้บริหาร รวมถึงเทคโนโลยีแบบ Photovoltaic (PV) ที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว ตลอดจนการเลือกใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Panel) และเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) จากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าโดยเฉลี่ยให้สูงกว่า 75% ในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA อย่างน้อย 3,400-3,500 ล้านบาทต่อปี
ปัจจัยที่จะมีผลในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทยังมีค่อนข้างจำกัดในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ในทางตรงข้ามสิ่งที่จะมีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่แย่ลงจนส่งผลต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างมีนัยสำคัญ หรือการที่โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงจากการก่อหนี้เพื่อลงทุนขนาดใหญ่
บริษัทเอสพีซีจีก่อตั้งในปี 2539 ในนาม บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ในปี 2554 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) แบบทางอ้อม (Reverse Listing) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นบริษัทได้ย้ายการซื้อขายหลักทรัพย์จากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2555 ณ เดือนมีนาคม 2558 ครอบครัวกุญชรยาคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 49% ปัจจุบันบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 36 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 205.92 เมกะวัตต์ ในปี 2557 รายได้ของบริษัท 90.8% มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อีก 6.3% มาจากโรงงานผลิตหลังคาเหล็ก ส่วนที่เหลืออีก 2.9% มาจากการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและอื่น ๆ
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด 36 แห่งของบริษัทมีสัญญา PPA กับ กฟภ. และได้รับ Adder ที่อัตรา 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 10 ปี โรงไฟฟ้าของบริษัทมีทำเลกระจายอยู่ใน 9 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดลพบุรี ซึ่งจากผลการศึกษาของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานพบว่าพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยที่ 19-20 เมกะจูลต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ต่อวัน (หรือเทียบเท่า 5.28-5.56 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อ ตร.ม. ต่อวัน) ซึ่งสูงกว่าค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 18 เมกะจูลต่อ ตร.ม. ต่อวัน (หรือเทียบเท่า 5 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อ ตร.ม. ต่อวัน)
โรงไฟฟ้าของบริษัทใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำจากซิลิคอนชนิดหลายผลึก (Multi-crystalline) ซึ่งผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่นชื่อ Kyocera ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2525 จนถึงปัจจุบัน Kyocera ได้จำหน่ายแผงพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดนี้คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 1.2 กิกะวัตต์ให้แก่โรงไฟฟ้าและครัวเรือนทั่วโลก โดยแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดที่บริษัทใช้ได้รับการรับประกันประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 25 ปีจาก Kyocera นอกจากนี้ บริษัทยังเลือกใช้เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) ที่ผลิตโดย SMA Solar Technology AG (SMA) สำหรับโครงการทั้งหมดโดยมีการรับประกันนาน 20 ปี ซึ่ง SMA จำหน่ายเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้ากว่า 35 กิกะวัตต์ไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2524
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดของบริษัทเปิดดำเนินงานแล้ว โดยโรงไฟฟ้าแห่งแรกเปิดดำเนินงานมากว่า 5 ปี ในขณะที่แห่งสุดท้ายเริ่มดำเนินงานในเดือนมิถุนายน 2557 สำหรับปี 2557 โรงไฟฟ้าของบริษัทมีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยที่ 78.5% โดยบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 339.9 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง สูงกว่าปี 2556 ที่บริษัทผลิตได้ 178.7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้น 90.3% ไฟฟ้าที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากการทยอยเริ่มดำเนินงานของโรงไฟฟ้าในช่วงปี 2556 - 2557 นอกจากนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตได้ 339.9 ล้านกิโลวัตต์ในปี 2557 นั้นยังสูงกว่าประมาณการ กรณีใช้ความน่าจะเป็นที่ 50% สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ --- P50 อยู่ 6.3% และสูงกว่าคาดการณ์กรณีใช้ความน่าจะเป็นที่ 90% -- P90 ถึง 13.4% โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 98.5 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2557 อยู่ 54.2% ผลการดำเนินงานของบริษัทสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในครั้งแรกสำหรับกรณี P50 อยู่ 6.8% และสูงกว่ากรณี P90 อยู่ 13.8% ซึ่งเป็นผลจากความเข้มของรังสีดวงอาทิตย์และประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีเงินกู้รวม 17,509 ล้านบาท ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 18,014 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 ซึ่งสอดคล้องกับตารางการชำระหนี้ บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 7,743 ล้านบาทซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มทุนจำนวน 1,841 ล้านบาทให้แก่ Gulf International Investment (Hong Kong) Ltd. (Gulf) โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับ 69.3% อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดจากภาระหนี้สินในระดับสูงนี้ถูกบรรเทาบางส่วนจากกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่แน่นอนและคาดการณ์ได้ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ที่สูงเนื่องจากได้รับ Adder และมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำ โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทได้รับอยู่ที่ประมาณ 11 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และมี EBITDA margin อยู่ที่ประมาณ 85%
สำหรับกรณีฐานของทริสเรทติ้งนั้นใช้ความน่าจะเป็นที่ 90% สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ (P90) และประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 77.5% ซึ่งคาดว่าบริษัทจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 340-350 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ประมาณ 3,400-3,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2563 และตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปคาดว่า EBITDA จะค่อย ๆ ลดลงเนื่องจากการทยอยหมดอายุของ Adder และคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 60%-65% ภายในปี 2559
สำหรับอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB+" ของหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันชนิดทยอยชำระคืนเงินต้นนั้นสะท้อนลักษณะการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (Structural Subordination) ของการออกหุ้นกู้ที่ระดับบริษัทโฮลดิ้ง ทั้งนี้ เนื่องจากกระแสเงินสดของบริษัทส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลจากการดำเนินงานของบริษัทลูก (Operating Company) ซึ่งจะเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ของบริษัทลูกแต่ละแห่ง