นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTT กล่าวว่า ปตท.ได้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เพื่อลงทุนโครงการสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG Terminal)เฟส 3 อีก 5 ล้านตัน/ปี ในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งจะเป็นคนละจุดกับคลัง LNG เฟส 1 ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และคลัง LNG เฟส 2 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยคลัง LNG ทั้งสองเฟส มีกำลังผลิตรวม 10 ล้านตัน/ปี ตั้งอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดเช่นเดียวกัน
รวมทั้งเสนอจะลงทุนโครงการคลัง LNG ในลักษณะ FSRU (Floating Storage & Regasification Unit)ซึ่งจะเป็นเรือ LNG ลอยลำและมีคลังเก็บ LNG และสถานีเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นก๊าซฯ ในฝั่งเมียนมาร์ขนาด 3 ล้านตัน/ปี ก่อนจะส่งก๊าซฯดังกล่าวผ่านท่อกลับมายังฝั่งไทย คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในฝั่งตะวันตก จากเดิมที่มีความเสี่ยงการปิดซ่อมแหล่งก๊าซฯในเมียนมาร์เป็นประจำในช่วงเดือน เม.ย. ทำให้ต้องมีการสำรอง LNG และน้ำมันเตาเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า
รวมถึงจะเสนอโครงการสร้างคลัง LNG ในรูปแบบ FSRU ขนาด 3 ล้านตัน/ปี ที่ อ.จะนะ จ.สงขลาด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงพลังงานทางภาคใต้ หลีกเลี่ยงผลกระทบจากการปิดซ่อมแหล่งก๊าซเจดีเอ ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ในบางช่วงเวลาด้วย
"ไทยรับก๊าซฯจากเมียนมาร์ประมาณ 1 ใน 5 ของความต้องการใช้ก๊าซฯทั้งหมด 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเป็นที่แน่นอนว่าเมียนมาร์จะไม่มีก๊าซฯขายเพิ่มให้กับไทยอีก หากโครงการพัฒนาพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชายังไม่จบ และปริมาณการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยลดลง ก็จำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการสร้าง LNG Terminal เฟส 3 เร็วยิ่งขึ้นเพื่อการันตีว่าคนไทยจะมีก๊าชฯใช้ในอนาคต และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน"นายไพรินทร์ กล่าว
นายไพรินทร์ กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ ม.ร.ว.ปริดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว. พลังงานจะเดินทางไปเมียนมาร์ ซึ่งจะมีการเจรจาโครงการสร้างคลัง LNG ดังกล่าวด้วย
ด้านนายณรงค์ชัย กล่าวว่า ระหว่างนี้ได้มีการเจรจาระหว่างเมียนมาร์ ลักษณะจีทูจี เพื่อการใช้พื้นที่ฝั่งเมียนมาร์ในการทำคลัง LNG โดยพิจารณาพื้นที่ 2 แห่ง ซึ่งรวมถึงในพื้นที่ทวายด้วย โดย ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนโครงการนี้ คาดว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปได้ภายในปีนี้
ขณะที่นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ PTT กล่าวว่า ขณะนี้แหล่งก๊าซเยตากุนในเมียนมาร์มีปัญหาที่ไม่สามารถส่งก๊าซฯได้ตามสัญญา หลังปริมาณสำรองก๊าซฯลดลงไปมาก โดยปริมาณที่ส่งขาดไปประมาณ 120 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทำให้การรับก๊าซฯจากแหล่งยาดานาในเมียนมาร์ต้องลดลงไปด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาจะนำก๊าซฯจากทั้ง 2 แหล่งมาผสมกันก่อนจะปล่อยเข้าท่อก๊าซฯเพื่อป้อนเข้ากับโรงไฟฟ้าของไทย
ดังนั้น ปตท. จึงได้จัดหาบุคคลที่สาม (Third Party) มาทำการประเมินปริมาณสำรองของแหล่งเยตากุนอีกครั้ง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือก คาดว่าการประเมินจะแล้วเสร็จใน 6 เดือนข้างหน้า