นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า นักลงทุนคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 88.16 (ช่วงค่าดัชนี 0-200) ปรับตัวลดลงถึง 14.17% เมื่อเทียบจากดัชนีในเดือนที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 102.72 สำหรับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าปัจจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัจจัยเชิงบวกที่มีอิทธิพลหลักต่อตลาดหุ้น ส่วนปัจจัยเชิงลบ คือเศรษฐกิจในประเทศ ที่มีอิทธิพลสูงสุดเช่นเดียวกับเดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยอื่นๆ จากภายนอกที่นักลงทุนมองว่าส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น เช่น เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ภาวะหนี้เสียของกลุ่มประเทศยูโรโซน และความไม่สงบจากภัยก่อการร้าย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่น เช่น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง การไหลเข้าออกเงินทุน การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ การลงทุนด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการจัดตั้งรัฐบาล
โดยหากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นรายกลุ่มแล้ว พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ อยู่ที่ 100.00 (Neutral) นักลงทุนรายย่อยอยู่ที่ 88.17 (Neutral) กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ที่ 77.77 (Bearish) และสถาบันในประเทศ อยู่ที่ 73.68 (Bearish) ตามลำดับ สำหรับหมวดอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่หมวดธนาคารเป็นหมวดอุตสาหกรรมที่ไม่น่าลงทุนมากที่สุด
นางวรวรรณ กล่าวว่า นักลงทุนสถาบันต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อทิศทางตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนสูงสุด แต่ยังอยู่ในระดับทรงตัว (Neutral) ขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์มีความเชื่อมั่นต่อทิศทางตลาดหุ้นลดลงมากที่สุดจนอยู่ในระดับซบเซา
สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ของไทยในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 3.0-3.5% ขณะที่การบริโภคภายในประเทศยังอ่อนแอ และหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นมาเกือบไปแตะระดับ 90% อย่างไรก็ตามไทยยังมีภาระหนี้ภาครัฐที่ต่ำ และภาคธนาคารพาณิชย์ยังมีความแรงทางการเงินที่ดีอยู่
ด้านนายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ทิสโก้ มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ยังเป็นไปอย่างช้าๆ โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่ภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น การส่งออก การบริโภคและการลงทุน ภาคเอกชนยังมีการฟื้นตัวในระดับต่ำ เนื่องจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ และการบริโภคสินค้าคงทนยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่เชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนมากขั้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัว ได้แก่ การท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ โดยการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนจากภาคเอกชนคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ชัดเจนมากขึ้นจากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความชัดเจนจากการลงทุนของภาครัฐ
สำหรับมุมมองของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ต่อตลาดหุ้นไทยนั้น ยังมีปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังไม่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงรอความชัดเจนเรื่องการลงทุนของภาครัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงยังต้องการเห็นความชัดเจนของทิศทางรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้ง นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงมองว่ามูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ยังมีอยู่