นอกจากนี้ ในปี 59 คาดว่ารายได้จะเติบโตได้เท่าตัวจากปีนี้ หลังจะมีโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วเพิ่มเป็น 1 พันเมกะวัตต์ ซึ่งจะมาจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม และการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนในระยะ 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เป็น 2,000 เมกะวัตต์ ทั้งจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล
นายจอมทรัพย์ คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะได้ข้อสรุปการร่วมทุนกับพันธมิตรในประเทศญี่ปุ่นเข้าลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นทั้งหมด 300 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม บริษัทมองโอกาสการลงทุนโครงการโซลาร์ในประเทศอื่นๆ ด้วย ทั้งฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งบางรายนั้นบริษัทได้เข้าไปเจรจากับพันธมิตรบ้างแล้ว อย่างเช่นใน ฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
ส่วนการลงทุนในประเทศนั้น บริษัทยังได้มีการลงนามในข้อตกลงควมเข้าใจเบื้องต้น(MOU)เพื่อเข้าลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ยังค้างท่ออีกจำนวน 250 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าการลงทุน ก่อนจะทยอยนำเสนอให้กับที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าและมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งหมด 145 เมกะวัตต์ และในไตรมาส 3/58 บริษัทก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของผู้ประกอบการโซลาร์ฟาร์มในประเทศที่มีขนาดกำลังการผลิตและมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)มากที่สุดในประเทศไทยที่ 396 เมกะวัตต์
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า ผลดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตโดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/58 ที่รายได้จะเติบโตก้าวกระโดดและมีแนวโน้มที่จะพลิกกลับมามีกำไร เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการ COD มากขึ้น โดยไตรมาส 3/58 จะมีการ COD ราว 396 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดการณ์ผลการดำเนินในปีนี้จะกลับมามีกำไร จากที่ขาดทุน 89.55 ล้านบาทในปี 57 อีกทั้งยังมองแนวโน้มรายได้ในปี 59 จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 4.25 พันล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากการ COD ของโครงการโซลาร์ฟาร์มรวม 500 เมกะวัตต์เต็มที่ตลอดทั้งปี ขณะที่บริษัทมีแผนล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่กว่า 700 ล้านบาททั้งหมดภายในปีนี้ โดยใช้กำไรจากการดำเนินงานและส่วนเกินมูลค่าหุ้น
สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วง 3 ปีข้างหน้า (58-60) วางเป้าหมาย COD ได้ 2,000 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่จะมาจากโซลาร์ฟาร์มทั้งการร่วมมือกับพันธมิตรในและต่างประเทศ และยังมาจากพลังงานลมและพลังงานชีวมวล (ขยะ) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและบางส่วนได้ลงมือก่อสร้างไปแล้ว
ด้านการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจนั้น สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้มากถึง 70% ส่วนที่เหลือ 30% มาจากเงินทุนของบริษัท นอกจากนี้ SUPER จะได้รับจากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ SUPER-W1 ที่จะมีการใช้สิทธิในเดือน ก.ค.นี้ SUPER-W2 ที่จะมีการใช้สิทธิในเดือน พ.ย.นี้ รวมถึง SUPER-W3 ที่จะมีการใช้สิทธิ์ในช่วงต้นปี 59 เมื่อรวมการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ์ทั้ง 3 ครั้ง จะทำให้บริษัทได้รับเงินถึง 14,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังจะมีการเสนอขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 2,000 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.50 บาท ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินเพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท จึงทำให้มั่นใจว่า บริษัทฯ มีเงินลงทุนมากพอสำหรับการขยายธุรกิจดังกล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเปลี่ยนชื่อบริษัท ซึ่งจะมีการนำเสนอแก่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทต่างมีความเห็นต่างๆในการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของธุรกิจที่เป็นธุรกิจพลังงาน ซึ่งการประชุมคณะกรรมการบริษัทในครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 11 ส.ค.58