“ทางกลุ่ม KTIS ได้ใช้ความพยายามมาตลอด ที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยนำอ้อยสดส่งเข้าโรงงานแต่ก็ติดปัญหาเรื่องของแรงงานตัดอ้อยที่ขาดแคลน กลุ่มเราจึงได้ลงทุนในเรื่องของรถตัดอ้อย โดยปัจจุบันมีรถตัดอ้อยจำนวน..........คัน นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ให้ความรู้กับชาวไร่อ้อย การตั้งหมู่บ้านอ้อยสด การจูงใจด้วยการมอบรางวัลอ้อยสดประจำปี และปีนี้เรามีโครงการรับซื้อใบอ้อยด้วย ซึ่งหากอ้อยถูกไฟไหม้ก็จะไม่มีใบอ้อยมาขาย จึงเชื่อว่าโครงการนี้จะได้ผลในการลดสัดส่วนของอ้อยไฟไหม้ลง"นายณัฎฐปัญญ์กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ KTIS กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีใบอ้อยจำนวนมากที่ถูกไฟไหม้ และอีกจำนวนมากที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งการเอาจริงเอาจังกับการจัดเก็บใบอ้อยมาใช้ประโยชน์นี้ จะทำให้ได้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น และสร้างรายได้มากขึ้นสำหรับกลุ่ม KTIS
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า KTBP ที่จังหวัดนครสวรรค์ ขนาด 60 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมาสามารถเปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 9 เดือนต่อปี แต่ในปีนี้บริษัทฯ พยายามยืดระยะเวลาของการผลิตไฟฟ้าให้ยาวนานขึ้น ด้วยการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลต่อหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานน้ำตาลให้น้อยลงและการเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลใหม่ๆ
“ชานอ้อยที่เป็นผลิตผลเหลือใช้จากการผลิตน้ำตาลนั้น ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในโรงงานน้ำตาล ซึ่งโรงไฟฟ้าเดิมที่ใช้อยู่จะได้แรงดันไอน้ำไม่สูงเท่าโรงไฟฟ้าใหม่ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น ทำให้ใช้ปริมาณชานอ้อยต่อหน่วยพลังงานไฟฟ้าน้อยลง และเหลือชานอ้อยที่ช่วยยืดระยะเวลาของการผลิตไฟฟ้าให้ยาวนานขึ้นด้วย" นายณัฎฐปัญญ์กล่าว