นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เปิดเผยว่า บริษัทมีฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมุ่งขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน อาทิ เมียนมา และกัมพูชา
นอกจากนี้ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ตั้งงบประมาณในปี 58 กว่า 400 ล้านบาท หรือราว 0.5% ของยอดขายของกลุ่ม ในการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง(HVA)ให้ได้ 47% ของยอดขายรวมใน 5 ปี ขณะที่ระยะสั้นปีนี้คาดว่ายอดขายของกลุ่มบรรจุภัณฑ์จะเติบโตได้ 5-10% จาก 6.46 หมื่นล้านบาทในปีก่อน ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นและตลาดอาเซียนที่ยังขยายตัว แม้ตลาดบรรจุภัณฑ์ในประเทศจะขยายตัวได้ไม่มากราว 1-2% ก็ตาม
"การรีแบรนด์ เอสซีจี เปเปอร์ เป็นเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่ออย่างเดียว แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจด้วย เอสซีจีอยากจะเป็น Total Packaging Solutions Provider ที่สามารถ offer ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นเรื่องการบริการที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ซึ่งเราเน้นในภูมิภาคอาเซียน และเน้นการผสมผสานเอางานวิจัยมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า สร้างบรรจุภัณฑ์อาเซียนให้เติบโต"นายรุ่งโรจน์ กล่าวแถลงข่าววันนี้
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า การรีแบนด์ของธุรกิจครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้จากสายธุรกิจ ที่ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของธุรกิจบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ราว 75% ของยอดขายกลุ่มธุรกิจกระดาษเดิม และคาดว่าจะเพิ่มเป็นระดับ 80-90% ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ตามการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก ซึ่งตลาดบรรจุภัณฑ์ของโลกมีมูลค่าราว 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/ปี เติบโตปีละ 3-4% ขณะที่ตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนอยู่ที่ราว 10% ของมูลค่าตลาดโลก หรือราว 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/ปี คิดเป็นอัตราเติบโต 5.1-5.2%
โดยตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียน ราว 1 ใน 3 เป็นกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่มาจากกระดาษ ส่วนที่เหลือมาจากบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุอื่นๆ ขณะที่การใช้บรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ราว 60-70% อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างมาก
ขณะที่การดำเนินธุรกิจในส่วนของธุรกิจกระดาษของเครือซิเมนต์ไทย ที่ไม่ใช่กระดาษบรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์นั้น ยังมีทั้งในส่วนของเยื่อกระดาษ และกระดาษพิมพ์เขียนด้วย ซึ่งก็ยังคงมีการดำเนินธุรกิจอยู่ เนื่องจากยังมีกลุ่มลูกค้าของเครืออยู่ แต่ในอนาคตเมื่อตลาดมีความต้องการลดลง การลงทุนหรือการทำธุรกิจในกลุ่มเหล่านี้คงจะต้องลดลงตามไปด้วย
อนึ่ง ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือเดิมคือธุรกิจกระดาษ ของ SCC นับเป็น 1 ใน 3 ของธุรกิจหลักในเครือซิเมนต์ไทย นอกเหนือจากธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยปีที่แล้วธุรกิจกระดาษ มีสัดส่วนยอดขายกว่า 13% ของยอดขายรวมของเครือ และมีสัดส่วนกำไรราว 10% ของกำไรรวมของเครือ โดยธุรกิจมีการผลิตในกลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์ , บรรจุภัณฑ์ ,กระดาษพิมพ์เขียน และเยื่อกระดาษ มีฐานการผลิตในไทย,เวียดนาม,อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์ ,สิงคโปร์และมาเลเซีย
ทั้งนี้ กลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์มีกำลังการผลิต จากฐานผลิต 3 ประเทศ รวม 2.3-2.4 ล้านตัน/ปีเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตอีกราว 2.43 แสนตัน/ปีในเวียดนาม ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จในปี 60 จะทำให้กำลังการผลิตของกระดาษบรรจุภัณฑ์ของเครือเพิ่มขึ้นมาที่เกือบ 2.7 ล้านตัน/ปี ขณะที่มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ จากฐานผลิตทั้งในและต่างประเทศ รวมกว่า 1 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ยังมีกำลังการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน 5.7 แสนตัน/ปี และเยื่อกระดาษ 4.7 แสนตัน/ปี
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียน มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์โลก ซึ่งหลายๆประเทศในอาเซียนก็นับเป็นฐานการส่งออกบรรจุภัณฑ์ของโลก ทั้งไทย,เวียดนาม,อินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ก็มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศหลักๆเหล่านี้อยู่แล้ว แต่มูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของเครือซิเมนต์ไทยยังไม่มากนักเมื่อเทียบทั้งอาเซียน โดยมียอดขายราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ/ปีเท่านั้น แต่เชื่อว่าการมุ่งเน้นสร้างฐาน และการพัฒนาธุรกิจ และการให้บริการควบคู่กันไปตามรูปแบบของ Total Packaging Solutions Provider ก็เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายและมาร์จิ้นของธุรกิจแพคเกจจิ้งเพิ่มขึ้นด้วย