ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นเอกสารต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เพื่อขอใบอนุญาตประกอบกิจการนาโนไฟแนนซ์ โดยใช้บริษัท เจ เอ็ม ที พลัส จำกัด เป็นผู้ดำเนินกิจการ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าปล่อยวงเงินสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ราว 20 ล้านบาทในช่วงปีแรก โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ค้าโทรศัพท์มือถือใน IT Juction ซึ่งเป็นศูนย์จำหน่ายโทรศัพท์มือถือครบวงจรของบริษัท เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้
"สาเหตุที่เราตั้งวงเงินการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ไม่มาก เนื่องจากธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ยังมีความเสี่ยงอยู่ จากความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังมีไม่มากนัก หากปล่อยวงเงินมากจนเกินไปจะทำให้การบริหารจัดการหนี้ไม่มีประสิทธิภาพและส่งผลเสียต่อบริษัท"นายปิยะ กล่าว
นายปิยะ กล่าวว่า ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะเติบโตมากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า หลังจากเปิดให้บริการ ประกอบกับในส่วนธุรกิจของบริษัทก็ยังคงเติบโตจากการซื้อหนี้เข้ามาบริหาร ทำให้บริษัทตั้งเป้าหมายกำไรในปี 61 จะเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านบาท จากเป้าหมายกำไรสุทธิปีนี้ที่ 180 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทมั่นใจเป้าหมายการขยายพอร์ตการบริหารหนี้ในปีนี้จะเพิ่มเป็น 9 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากสิ้นปี 57 ที่อยู่ 6.1 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทได้ซื้อหนี้จากสถาบันการเงินมาแล้ว 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกราว 2 หมื่นล้านบาท บริษัทจะเดินหน้าซื้อในช่วงที่เหลือของปีเพื่อให้ขยายพอร์ตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ ซึ่งขณะนี้มีสถาบันการเงินของเอกชนขนาดใหญ่หลายรายเสนอขายหนี้ให้แก่บริษัทมาแล้ว และบางส่วนบริษัทได้มีการเซ็นสัญญาเบื้องต้นไว้แล้ว