"เราต้องการเป็น King Of Retail ซึ่งหลังจากที่เราได้เข้าไปลงทุนใน SINGER ก็จะทำให้เรามีฐานลูกค้าและฐานการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว และเรายังมีที่ศึกษาอยู่ โดยจะเน้นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มบริษัทที่มีมาตรฐาน และได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ ที่สำคัญมีช่องทางและเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลายกว่าบริษัทนอกตลาด แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ คาดว่าภายในปีนี้จะมีความชัดเจนที่มากขึ้น"นายอดิศักดิ์ กล่าว
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทประเมินว่าการเข้าถือหุ้น SINGER จะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 2-3 ปี โดยจะเริ่มเห็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองบริษัทอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะทำให้รายได้เติบโตเพิ่มจากปกติอีก 10%
และการเข้าซื้อหุ้น SINGER คิดเป็นมูลค่า 945 ล้านบาทนั้น ไม่ได้ทำให้บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากล่าสุดได้มีการขายหุ้น 10% ใน บมจ.เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ได้รับเงินเข้ามาจำนวน 525.40 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปชำระค่าซื้อหุ้น SINGER ส่วนเงินชำระค่าหุ้นที่เหลือจะใช้เงินกู้เพียง 420 ล้านบาท มีต้นทุนดอกเบี้ย 3% หรือคิดเป็นราว 12 ล้านบาท/ปี ต่ำกว่าที่มีโบรกเกอร์ประเมินว่าบริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยมากถึงกว่าปีละ 30 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากดีลการซื้อหุ้น บจ.ที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจาได้ข้อสรุป ก็อาจจะจำเป็นต้องใช้เงินจากการเพิ่มทุนที่เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ที่ได้มีการประกาศไปแล้ว และได้ขึ้นเครื่องหมาย XR เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว
สำหรับรายได้ของกลุ่มบริษัทในปี 58 ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวมผลประโยชน์ที่จะได้รับการเข้าไปลงทุน SINGER โดยเชื่อว่าหากรวมผลประโยชน์เข้ามาก็จะทำให้มีรายได้ปีนี้มีแนวโน้มทะลุเป้าหมายที่วางไว้ เบื้องต้นบริษัทจะเพิ่มช่องทางการขายสินค้าของบริษัท โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือในโชว์รูมของ SINGER 50 สาขาช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มยอดขายได้อีก 1 พันล้านบาทภายในปี 59 นอกจากนี้ จะใช้สาขา SINGER ในการเพิ่มช่องทางให้ JMT บริหารหนี้ด้วย
"การเข้าไปซื้อหุ้น SINGER น่าจะเห็น Synergy ที่ชัดเจน ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนในปีนี้ก็คงรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนที่ถือหุ้นเข้ามาในไตรมาส 3 และ 4 นี้ซึ่งยังคงไม่มีนัยอะไรมากนัก พร้อมทั้งคาดว่าการลงทุนครั้งนี้จะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 2-3 ปี"นายอดิศักดิ์ กล่าว
นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนจำนวนหุ้น SINGER อีกราว 15% ที่ SINGER (THAILAND) B.V. ขายออกมานั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่เน้นถือหุ้นระยะยาว เช่น ไทยเอ็นวีดีอาร์ ,บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) รวมถึงกองทุนลอมบาร์ด เป็นผู้มาซื้อหุ้น ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบในแง่ของการขายทำกำไรออกมาอย่างแน่นอนเหมือนที่เคยมีการวิเคราะห์กันก่อนหน้านี้
หลังจาก SINGER (THAILAND) B.V. ขายหุ้น 40% โดย JMART เข้าซื้อ 24.99% มีการประเมินกันว่าจำนวนหุ้นที่เหลือกระจายอยู่ในมือของนักลงทุนบุคคลรายใหญ่ และอาจจะมีการขายทำกำไรหากราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ล่าสุดหลังจากมีการปิดสมุดจดทะเบียนเพื่อตรวจสอบ ปรากฎว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ด้านนายบุญยง ตันสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ SINGER กล่าวว่า บริษัทเตรียมเข้าเจรจากับ JMT ในเร็วๆนี้เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบริษัทที่ปัจจุบันมีอยู่ 6.5% หรือราว 2 หมื่นล้านบาท โดยอาจจะเป็นการขายหนี้ให้กับ JMT ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องมีการตกลงราคาที่เหมาะสมกันอีกครั้ง หรือการให้ JMT เข้ามาช่วยบริหารและเรียกเก็บหนี้เสีย ซึ่ง JMT มีศักยภาพด้านการเรียกเก็บหนี้เสียเป็นลำดับต้นๆของประเทศ โดยการได้พันธมิตรที่มีศักยภาพอย่าง JMT เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการหนี้ของบริษัท น่าจะทำให้ NPL ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 1-2% ภายในปีนี้