สำหรับวิธีการจัดสรรให้ผู้จองซื้อทั่วไปเป็นแบบ Small Lot First ซึ่งทำการจัดสรรโดยบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จองซื้อทั่วไปทุกรายมีโอกาสเข้าร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาและสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ
EGATIF มีขนาดกองทุนรวมประมาณ 20,025-20,855 ล้านบาท ซึ่งจะเข้าลงทุนในสิทธิในรายได้ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 ซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญา 670 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยสิทธิในรายได้ที่กองทุนรวมฯ จะเข้าไปลงทุนนั้น ถือเป็นรายได้ในอนาคตจากโรงไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเดินเครื่องสูง
ประกอบกับทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้แหล่งความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง จึงถูกจัดให้เป็นโรงไฟฟ้าที่ต้องผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบเป็นลำดับต้นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมในย่านศูนย์กลางชุมชนผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้กองทุนรวมฯ มีโครงสร้างรายได้ที่ชัดเจน นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษาที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าฯ ทั้งหมด ทำให้ EGATIF ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ตลอดอายุสัญญาการเข้าลงทุนอีกด้วย
นายอรรถพงศ์ กล่าวว่า กองทุน EGATIF ต้องมองการคำนวนใน 2 รูปแบบ คือ มองแบบมีความเสี่ยงต่ำแบบการคำนวนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)คือผลตอบแทนที่ 8.5% มีส่วนแบ่งเป็นคืนเงินต้น 5% ต่อปี และอีก 3.5% คือผลตอบแทน วิธีที่ 2 คือในทางปฎิบัติตามที่ผู้สอบบัญชีแนะนำ คือ ผลตอบแทนที่ 8.5% มีส่วนแบ่งเป็นคืนเงินต้น 3% และอีก 5.5% คือผลตอบแทน ถือว่าน่าสนใจในการลงทุนเนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ และเป็นสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่มีการบริหารโดย กฟผ.ที่มีความเสี่ยงต่ำ
สำหรับสัดส่วนการขายหน่วยลงทุนจะพยายามให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกันระหว่างนักลงทุนสถาบัน และ นักลงทุนรายย่อย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยสัดส่วนได้ เนื่องจากต้องรอสรุปผลตอบรับจากการขายหน่วยลงทุนในวันที่ 22-26 มิ.ย. ก่อน โดยการขายหน่วยลงทุนในครั้งนี้จะเป็นการขายให้กับนักลงทุนและสถาบันภายในประเทศทั้งหมด
ด้านนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ.เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพโดยเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่ใหม่ที่สุดในปัจจุบันของ กฟผ.ที่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน EGATIF จะเข้าไปลงทุนในสิทธิรายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า โดยเป็นโรงไฟฟ้าแบบพลังงานความร้อนร่วมใช้ก๊าซธรรมชาติและไอน้ำเป็นตัวผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือในระดับสากล มีประสิทธิภาพการดำเนินงานสูง ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ดังกล่าว มีดัชนีค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าที่ดีมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2554-2556
ทั้งนี้ ในระยะเวลา 4-5 ปีต่อจากนี้ กฟผ.มีภาระต้องลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยวางงบลงทุนไว้มากกว่า 4 แสนล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวจะมาจากการกู้ในประเทศ และการออกพันธบัตร ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. มีหนี้อยู่ราว 4 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ที่เป็นสกุลต่างประเทศราว 1 พันล้านยูโร ซึ่งถือว่าสัดส่วนหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่กว่า 6 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามทาง กฟผ. ก็มีการหาแนวทางต่างๆในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งล่าสุด กฟผ.ก็ได้เตรียมตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน EGATIF โดยใช้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 เข้ามาจัดตั้งกองทุนในครั้งนี้ โดยหลังจากนี้ทาง กฟผ. จะรอดูการตอบรับของนักลงทุนทั้งก่อนว่าเป็นอย่างไร โดยจะใช้ระยะเวลาราว 1 ปี หรือผ่านการจ่ายเงินปันผล 2 ครั้งไปแล้ว หลังจากนั้นอาจจะมีการพิจารณาขยายกองทุนเพิ่ม โดยอาจขายสินทรัพย์ คือ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 เข้ากองทุนเพิ่มเติม