"ปาล์มที่อินโดฯเรามี 5 ผืนก็จะทยอยขายไปเรื่อยๆ ที่ขายไปส่วนแรก 2 ผืน...ธุรกิจนี้เรา impair ไปหมดแล้วขายได้ก็จะเงินกลับมา จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับราคาที่ขายได้"นายไพรินทร์ กล่าว
นายไพรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในช่วงสิ้นปีก็คาดว่า บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ซึ่งปตท.ถือหุ้นอยู่ 36% นั้นก็จะมีการกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) ซึ่ง ปตท.ก็จะมีการขายหุ้นในส่วนของ SPRC ออกมาด้วยเช่นกัน
แต่นายไพรินทร์ ปฎิเสธที่จะระบุว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/58 จะดีกว่าไตรมาสแรกที่มีกำไรสุทธิ 22,583.86 ล้านบาทหรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้นายพิจินต์ อภิวันทนาพร ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ PTT คาดว่าจะสามารถบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นทั้งหมดใน BCP จำนวน 2.45 พันล้านบาทในไตรมาส 2/58 ก็ตาม
ส่วนการที่กระทรวงพลังงานของไทย และกระทรวงไฟฟ้าเมียนมาร์ รวมถึงกระทรวงพลังงานเมียนมาร์ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) 2 ฉบับเมื่อวานนี้ ทั้งในส่วนของความร่วมมือด้านพลังานปิโตรเลียม และด้านพลังงานไฟฟ้านั้น นายไพรินทร์ เห็นว่า จะทำให้เกิดความร่วมมือของระหว่างภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในลักษณะ FSRU (Floating Storage & Regasification Unit)ซึ่งจะเป็นเรือ LNG ลอยลำและมีคลังเก็บ LNG และสถานีเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นก๊าซฯ ในฝั่งเมียนมาร์ ขนาด 3 ล้านตัน/ปี ซึ่งล่าสุดปตท.อยู่ระหว่างการเลือกสถานที่ก่อสร้าง ระหว่างทวาย หรือ Kanbauk ซึ่งเป็นบริเวณที่มีท่อก๊าซฯจากแหล่งยาดานาและเยตากุนขึ้นฝั่ง โดยหากเลือกสถานที่ก่อสร้างได้ก็จะดำเนินโครงการได้ทันที
ขณะที่ในด้านของความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้านั้น ปตท.ก็มีบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกจะเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าในเมียนมาร์ โดยปัจจุบันมี MOU ร่วมกันกับเมียนมาร์หลายโครงการ ซึ่งหากทางเมียนมาร์มีความชัดเจนก็คาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการต่างๆได้ทันทีเช่นกัน