ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนเป็นบริษัทที่เข้าร่วมประกวดราคา แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก เป็นผู้เสียประโยชน์ เป็นคู่แข่งเมื่อประมูลไม่ได้ แล้วมาร้องเรียน จึงถือว่าไม่เหมาะสม แต่การรับเรื่องร้องเรียนก็เป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวกับกระบวนการที่ ขสมก.จะลงนามสัญญา
"เมื่อปี 41 เคยมีปัญหาเรื่องร้องเรียน คือถ้ามีคนไหนมาร้องเรื่องนั้นต้องหยุด รายเดียวก็ต้องหยุด ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่ ยกตัวอย่างหากเลือกผู้ว่าฯ แล้วมีคู่แข่งที่ไม่ได้มาร้อง จะต้องปลดผู้ว่าฯ คือ ร้องก็รับไปตรวจสอบ ไม่ผิดก็ทำงานต่อ ถ้าพบว่าผิดก็ค่อยปลดผู้ว่าฯ และครั้งนี้เป็นการร้องจากผู้เสียประโยชน์ ไม่ใช่คนกลางมาร้อง ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นก็ยืนยัน คนร้องไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับองค์กรฯ" รมว.คมนาคม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการประมูลจัดซื้อรถเมล์ NGV เป็นโครงการนำร่องเรื่องข้อตกลงคุณธรรมตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐ แต่กลับมีการร้องเรียน จะถือว่าไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ต้องดูว่าข้อร้องเรียนมีข้อเท็จจริงหรือไม่ ร้องเรียนโดยระบุชื่อชัดเจนหรือไม่ หากเป็นการร้องเรียนที่มีข้อเท็จจริง ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลหรือองค์กรต้านทุจริตก็จะให้ความสำคัญ และพิจารณา ซึ่งองค์กรต่อต้านทุจริตฯเข้าร่วมตรวจสอบตั้งแต่แรก ยืนยันแล้วว่าไม่ติดใจ และเตรียมจะเข้าตรวจสอบในการจัดซื้อเฟส 2 เฟส 3 แล้ว ดังนั้นขสมก.ควรเดินหน้าตามขั้นตอนต่อไปได้
ส่วนกรณีที่ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการประกวดราคา จัดซื้อรถเมล์ NGV ด้วยนั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ไม่ทราบเรื่อง และไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ โดยมั่นใจว่า เรื่องนี้ ทำทุกอย่างโปร่งใส เปิดเผยทุกขั้นตอน