KSL คาดกำไรงวดปี 57/58 ต่ำกว่าปีก่อน,หาพันธมิตรร่วมทุน รง.น้ำตาลลาว-เขมร

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 17, 2015 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานจัดหาวัตถุดิบ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) คาดว่ากำไรสุทธิงวดปี 57/58 (พ.ย.57-ต.ค.58) ต่ำกว่าระดับ 1.63 พันล้านบาทในงวดปีก่อน หลังราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับลดลงมากกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นให้ลดลงด้วย แต่ในส่วนของรายได้คาดว่าจะทำได้ระดับใกล้เคียงกับงวดปีก่อนที่มีรายได้รวม 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิมที่คาดว่ารายได้จะลดลงราว 10% เนื่องจากมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้นจากปีก่อนราว 5% มาที่ 8.9 แสนตัน จาก 8.3 แสนตันในปี 57

ในปีนี้บริษัทาดว่าราคาน้ำตาลเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 15 เซนต์/ปอนด์ จากเฉลี่ย 18 เซนต์/ปอนด์ในปีก่อน หลังอุตสาหกรรมน้ำตาลยังอยู่ในภาวะล้นตลาด ประกอบกับการลดลงของค่าเงินประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ โดยปัจจุบันปริมาณสต๊อกน้ำตาลของโลกอยู่ในระดับสูง และอาจต้องใช้เวลาระบายสต็อกออกหมดอย่างน้อย 1 ปี จึงจะทำให้ราคาน้ำตาลกลับมาอยู่ในทรงขาขึ้นได้ในปี 59

"เดิมเราคาดว่ารายได้ปีนี้คงจะลดลงจากปีก่อน เพราะราคาน้ำตาลเฉลี่ยปีนี้คงจะต่ำกว่าปีก่อน แต่หลังจากที่เราหีบอ้อยแล้วเสร็จปริมาณอ้อยปรับเพิ่มสูงขึ้นมาทำให้เราคาดว่ารายได้คงจะยังสามารถทำให้ใกล้เคียงจากปีก่อนได้ แต่กำไรคงลดลงตามราคาน้ำตาลที่ลดลง แต่อาจจะลดลงไม่มากเพราะสัดส่วนกำไรหลักของเรามาจากธุรกิจพลังงานกว่า 60% ซึ่งน่าจะช่วยพยุงให้ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย"นายชลัช กล่าว

อนึ่ง KSL ระบุก่อนหน้านี้ว่าการที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการทั้งโรงงานน้ำตาลในลาวและกัมพูชา และธุรกิจน้ำตาลในประเทศ โดยในส่วนของโรงงานน้ำตาลที่ลาวและกัมพูชานั้น บริษัทได้ลงทุนค่าใช้จ่ายล่วงหน้า 1 ปีสำหรับการเพาะปลูกอ้อย เมื่อราคาน้ำตาลตลาดโลกในปี 58 ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่บันทึกไว้สูงกว่าราคาขาย ทำให้มีผลขาดทุน

ส่วนธุรกิจโรงงานน้ำตาลในประเทศนั้น แม้ต้นทุนวัตถุดิบอ้อยจะปรับตัวลดลงตามราคาน้ำตาลตลาดโลก แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆในกระบวนการผลิตไม่ได้ลดลงตามสัดส่วน ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้ปรับตัวลดลงจากปีก่อนด้วย

นายชลัช กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลของบริษัทนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าใน จ.สระแก้ว ซึ่งหากได้รับใบอนุญาตก็มีความพร้อมในการลงทุนทันที โดยจะใช้งบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2-3 ปี กำลังการผลิต 3 หมื่นตันอ้อย/วัน พร้อมกันนี้จะสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เดียวกันกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้ในโรงงานของบริษัทราว 50 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 40-45 เมกะวัตต์จะผลิตเพื่อจำหน่าย

ส่วนการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าที่ จ.ขอนแก่น อีกราว 30 เมกะวัตต์ที่สร้างเสร็จแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอสายส่งจากภาครัฐฯพร้อมก่อน ซึ่งยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนออกมา ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟแล้ว 50 เมกะวัตต์

นายชลัช กล่าวอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อที่จะผลักดันธุรกิจพลังงานทดแทนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ปัจจุบันอยู่ระหว่างพูดคุยกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวต้องใช้วัตถุดิบจากบริษัท จะมีการทับซ้อนเรื่องผลประโยชน์หรือไม่ หากสามารถทำได้ก็หวังว่าจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในปี 59 ขณะที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินที่เจรจาอยู่ 2-3 ราย

นอกจากนั้น บริษัทยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนโรงงานผลิตน้ำตาล ในประเทศกัมพูชา ที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ 1.2 แสนไร่ และกำลังการผลิต 6 พันตันอ้อย/วัน และโรงงานผลิตน้ำตาลในประเทศลาว ที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ 6 หมื่นไร่ และกำลังการผลิต 3 พันตันอ้อย/วัน เนื่องจากทั้ง 2 โรงงานนี้ประสบผลขาดทุนมาต่อเนื่องถึง 7 ปีแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ