ก.ล.ต.แจงผลวิจัยพบค่าธรรมเนียมกองทุนหุ้นไทยแพง,ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 17, 2015 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญชัย เมธีพิทักษ์ธรรม เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เปิดเผยถึงผลงานวิจัย"Mutual Fund Fee & Performance"ว่า ค่าธรรมเนียมกองหุ้นไทยถือว่าอยู่ในระดับที่แพงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากนักลงทุนเลือกการลงทุนที่เหมาะสม หรือเลือกค่าธรรมเนียมที่อยู่ในระดับต่ำลงมา ค่าธรรมเนียมเฉลี่ยก็อาจจะถูกลง ขณะที่เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนของการลงทุนในกองหุ้นไทย ซึ่งพบว่าผลตอบแทนโดยรวมกองหุ้นไทยต่ำกว่าดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทยเล็กน้อย(SET TRI)เมื่อดูผลตอบแทน 5 ปีที่ผ่านมากองหุ้นไทยทำได้ 17% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยทำได้ 20%
"การลงทุนในกองทุนหุ้น อยากให้พิจารณาถึงค่าธรรมเนียมเป็นหลัก ซึ่งการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีค่าธรรมเนียมที่สูงอาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดี ขณะที่การลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ ถือว่ายังมีอยู่มากแต่กลับมีนักลงทุนให้ความสนใจที่น้อย ผลการดำเนินงานหรือผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก"นายชาญชัย กล่าว

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดกองทุนรวมในประเทศไทย มีจำนวนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยู่ 24 บริษัท มีรายได้ในปี 57 อยู่ประมาณ 23,525 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 6,075 ล้านบาท จากผลงานวิจัยพบว่าค่าธรรมเนียมในปี 54-58 มีการปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังไม่มากนัก ค่าธรรมเนียมของกองทุนที่แพงที่สุด คือ Tigger fund รองลงมาคือ หุ้นกลุ่ม Small-cap, large-cap และที่ถูกที่สุดจะเป็น Index funds

ขณะที่มองว่าค่าธรรมเนียมของกองทุนที่เกิน 2.1% ต่อปี ถือว่าอยู่ในระดับที่แพงมาก และหากอยู่ที่ 1.8-2.1% ต่อปีก็ถือว่าแพง ค่าธรรมเนียมระหว่าง 1.3-1.8% ต่อปีอยู่ในระดับที่ถูก ส่วนที่อยู่ในระดับ 1.3% ถือว่าถูกมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันค่าธรรมเนียมในการลงทุนในกองทุนหุ้นไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.75-2.00%

"ในช่วงปี 57 เงินที่เข้ามาในกองทุนรวม 200 กว่ากองนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีและมีการเติบโตแทบทุกกอง เห็นได้จาก Net inflow เป็นบวก และกองขนาดเล็กก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น มี Net inflow ที่ดีไม่แพ้กองทุนขนาดใหญ่ ซึ่งในภาพรวมการเติบโตของกองทุนหุ้นไทยก็เป็นไปได้ดี"นายชาญชัย กล่าว

ด้านนายสรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวถึงผลงานวิจัยความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารทุนในประเทศไทยว่า กองทุนตราสารทุนในประเทศไทย มีผลการดำเนินงานที่มีความสม่ำเสมอมากกว่าประเทศอื่นๆใน ASEAN5 โดยได้มีการวิจัยจากกองทุนหุ้นที่ลงทุนในประเทศไทยจำนวน 78 กองทุน ในระยะเวลา 10 ปี (ปี 46-55) แต่ผลตอบแทนกองทุนหุ้นไทยมีบางช่วงที่มีผลการดำเนินงานไม่สม่ำเสมอ ในช่วงที่เกิดวิกฤต เช่น น้ำท่วมในปี 54 และปี 51 ที่เกิดวิกฤติแฮมเบอเกอร์ แต่พอหลังจากเกิดวิกฤติ ผลตอบแทนกองทุนหุ้นไทยกลับมาให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ

ทั้งนี้ จากการเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของ บลจ.จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกองทุนหุ้นไทยเมื่อมีการเปิด AEC และยังดึงดูดนักลงทุนไทยให้เข้ามาลงทุนในกองทุนหุ้นไทยเช่นกัน จากที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย เชื่อว่าจะมีแนวโน้มในการเติบโตที่สูงในอนาคต

"โดยจากการศึกษาพบว่ากองทุนหุ้นของไทยให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ จากการวิจัยข้อมูลจำนวน 78 กองทุนในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าจุดนี้เป็นจุดขายที่ดีสำหรับบลจ.ไทยที่จะนำเป็นจุดขายในการดึงดูดประชาชนในอาเซียนเข้ามาลงทุนในกองทุนหุ้นของไทย จากที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอมากที่สุดใน ASEAN5"นายสรศาสตร์ กล่าว

นายสรศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับวิธีวัดความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงาน 78 กองทุนนั้น จะมีการจับกลุ่มกองทุนที่มีผลเรียงตามผลการดำเนินงานออกเป็น 4 กลุ่มแล้วเทียบดูปีต่อปีว่าในแต่ละกลุ่มยังคงมีผลการดำเนินงานที่อยู่ในกลุ่มนั้นหรือไม่ ซึ่งหากไม่อยู่ในกลุ่มนั้นถือว่าไม่มีความสม่ำเสมอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ